กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมพิจารณาแก้กฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2552 เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มได้ โดยเฉพาะการใช้ชำระค่าน้ำมันและสินค้าผ่านมือถือ ระบุต้องปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัยกับยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังต้องอยู่บนความปลอดภัยเป็นหลัก ด้านค่ายน้ำมันบางจากศึกษาการลดสัญญาณมือถือให้ต่ำลง โดยเฉพาะบริเวณใกล้หัวจ่ายน้ำมัน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการชำระค่าน้ำมันทางมือถืออย่างปลอดภัย แต่การให้บริการต้องรอให้กระทรวงพลังงานอนุญาตก่อนเท่านั้น
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า กรม ธพ. เตรียมพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากกฎกระทรวงฯ ระบุห้ามใช้โทรศัพท์มือหรืออุปกรณ์ใดที่จะก่อให้เกิดประกายไฟในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งให้ดับเครื่องยนต์ก่อนเติมน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้กรมฯ เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวใช้มานานตั้งแต่ปี 2552 จะต้องปรับแก้ไขให้ทันกับยุคสมัย โดยเฉพาะกรณีการใช้โทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันมีการชำระเงินค่าสินค้าผ่านมือถือจำนวนมาก
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน เตรียมมาขออนุญาตเปิดให้บริการชำระค่าน้ำมันผ่านทางระบบมือถือ ซึ่ง กรม ธพ. ยืนยันว่า ปัจจุบันยังดำเนินการไม่ได้เพราะขัดกับกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว แต่ในอนาคตจำเป็นต้องปรับแก้ เพื่อให้สามารถชำระค่าน้ำมันหรือสินค้าผ่านมือถือภายในปั๊มน้ำมันได้ แต่ต้องอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหลัก
ทั้งนี้ กรมฯ กำลังพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและปลอดภัย เบื้องต้นเห็นว่าการชำระเงินค่าน้ำมันผ่านโทรศัพท์มือถือจะต้องห่างจากตู้จ่ายน้ำมันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เป็นต้นไป
แหล่งข่าวค่ายน้ำมันบางจาก กล่าวว่า บางจากฯ อยู่ระหว่างหารือกับกรมธุรกิจพลังงานเพื่อขออนุญาตให้บริการชำระค่าน้ำมันผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความสะดวกของลูกค้าและให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เบื้องต้นกำลังศึกษาการปรับแก้ด้านสัญญาณมือถือในปั๊มหรือบริเวณใกล้ตู้จ่ายน้ำมัน ให้มีสัญญาณมือถือที่ต่ำลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสามารถใช้มือถือชำระเงินได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center-ENC รายงานว่า กฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงปี พ.ศ. 2552 กำหนดให้พนักงานในปั๊มน้ำมันจะต้องติดป้ายเตือนผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเติมน้ำมัน เช่น ต้องปิดโทรศัพท์มือถือ ดับเครื่องยนต์ และต้องไม่ก่อประกายไฟ เป็นต้น โดยหากไม่ดำเนินการตาม พนักงานปั๊มมีสิทธิ์ปฏิเสธการจำหน่ายน้ำมันได้ แต่หากพบว่ามีการฝ่าฝืน พนักงานปั๊มและเจ้าของปั๊มจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่ความผิดไม่ได้ครอบคลุมผู้ใช้บริการที่มาเติมน้ำมันแต่อย่างใด