เล็งเสนอปรับแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ พร้อมแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จากผลพวงโควิด-19

2381
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ หลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดต่ำลง  ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ โดยปี2563 คาดทะลุเกิน 40% ที่อาจต้องมีการ shutdown โรงไฟฟ้าของกฟผ.เพื่อไม่ให้ ประชาชนต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้มีการติดตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคพลังงานของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด  โดยหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง คาดว่าจะมีการเสนอให้มีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ เนื่องจาก การคาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast ) อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก จึงต้องมีการชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศออกไป เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงเกินไป  ซึ่งในปี 2563 คาดว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงเกิน 40% แล้ว เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้น ลดลง  ทั้งนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระมากขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า  มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อเดือนมกราคม2562 ที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ แผนพีดีพี 2018 นั้น ระบุให้มีการทบทวนแผนพีดีพี ทุกๆ 5 ปี ยกเว้นว่าจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ  รวมทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่ให้ กระทรวงพลังงานบริหารจัดการปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศในช่วง ปี2562-2568 เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อประชาชนที่มากเกินไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2563  กพช.ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนพีดีพี โดยเรียกว่าพีดีพี2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1  ตามข้อเสนอของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการเพิ่มเติมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รวมตลอดทั้งแผน ประมาณ 1,900เมกะวัตต์ โดยรับซื้อเพื่อเข้าระบบในปี2563-2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผนพีดีพี2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (2562-2580)ใช้สมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP เฉลี่ยทั้งแผน ที่ 3.8% ต่อปี ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า  โดยเป็นการดำเนินการก่อนวิกฤตโควิด-19  ซึ่งเมื่อผลกระทบจากโควิด-19 มีแนวโน้ม ส่งผลให้ ทั้งGDP และการส่งออก ในปี 2563 ติดลบ และต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัว  จึงอาจจะต้องมีการเสนอให้มีการปรับปรุงแผนพีดีพี ใหม่อีกรอบ  รวมไปถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องเชื่อมโยงกับแผนพีดีพี ด้วย

ทั้งนี้ การเสนอปรับแผนพีดีพีใหม่อีกรอบ คาดว่าจะไม่กระทบต่อนโยบายการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน และโครงการของเอกชนที่ได้มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้ว

สำหรับการแก้ไขปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้า ที่สูงเกิน 40% ในระยะสั้น ปี2563-2568 นั้น
จะมีการพิจารณา shutdown โรงไฟฟ้าของ กฟผ.โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเก่าที่มีต้นทุนสูง เป็นหลัก   ทั้งนี้การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของกฟผ. อาจจะมีประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการซัพพลายก๊าซของปตท. ด้วย ซึ่งต้องมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้มีปัญหา take or pay ในสัญญาก๊าซที่ ปตท.มีกับคู่ค้า ทั้งในส่วนของก๊าซในอ่าวไทย เมียนมา และก๊าซแอลเอ็นจีที่เป็นสัญญาระยะยาว ในปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี

Advertisment