กระทรวงพลังงานเร่งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชน หรือโซลาร์ภาคประชาชน ให้ทันเสนอ กพช.อนุมัติ 24ม.ค.2562นี้ โดยจะนำร่องก่อน 100 เมกะวัตต์ต่อปี และการไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 15% ของปริมาณหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนราคารับซื้อ รอ กกพ.กำหนดอัตรา
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชร ว่า กระทรวงพลังงานจะนำเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาอนุมัติในหลักการในการประชุมวันที่ 24ม.ค.2562นี้
โดยในปีแรกจะนำร่องก่อน 100 เมกะวัตต์ต่อปี และจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 15% ของปริมาณหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนราคารับซื้อ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จะเป็นคนกำหนดอัตรา
ทั้งนี้โครงการโซลาร์ประชาชนถูกบรรจุไว้ในแผนPDPฉบับใหม่ จำนวน 10,000 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าระบบจะสามารถพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าวประมาณ 4,000 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC)รายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้ให้ข้อมูลต่อพลังงานจังหวัด เมื่อการประชุมสัมมนาวันที่ 4 ม.ค.2562ที่ผ่านมา ถึงปัจจัยในการสนับสนุนติดตั้งโซลาร์รูฟ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การติดตั้งโซลาร์รูฟไม่เกิน 1 เมกะวัตต์นั้นไม่ถือเป็นโรงงานลำดับที่ 88 ตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535
2.โซลาร์รูฟไม่เกิน 160 ตารางเมตร น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522
3. การติดตั้งโซลาร์รูฟยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน BOI(สำหรับนิติบุคคล)
3.1 เสียภาษีภายใน 3 ปี มากกว่าหรือเท่ากับ 50% ของวงเงินลงทุน หักได้เต็มจำนวน (โดยจะหัก 1 ปั หรือทยอยหักได้ไม่เกิน 3 ปี ) เท่ากับการอุดหนุน 50% ของลงทุน
3.2 เสียภาษีภายใน 3 ปี น้อยกว่า 50% ของเงินลงทุน หักได้ตามภาษีที่เสียจริง
4.การติดตั้งโซลาร์รูฟยังสามารถยื่นขอโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน
4.1 วงเงินกู้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อโครงการ
4.2 ดอกเบี้ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3.5%
4.3ระยะเวลากู้ 5 ปี
4.4 Payback ไม่เกิน 7 ปี