กระทรวงพลังงาน ระดมทุกหน่วยงานในสังกัด ชี้แจงแนวทางจัดการการใช้พลังงานของประเทศและมาตรการประหยัดพลังงาน พรุ่งนี้ (11 มี.ค. 2565) ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาน้ำมัน-ก๊าซฯ พุ่งไม่หยุด จับตาทิศทางการตรึงดีเซลที่ 30 บาทและตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถัง ที่จะสิ้นสุด 31 มี.ค. 2565 นี้ ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไร? และกระทรวงฯ จะมีมาตรการที่เข้มข้นอย่างไรในการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ขณะนายกรัฐมนตรี ชี้แจงมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค. 2565) กระทรวงพลังงานเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์การประหยัดพลังงาน ในห้วข้อ “รวมพลังคนไทย ลดใช้พลังงาน หาร 2” ที่ลานกิจกรรม กระทวงพลังงาน ในเวลา 9.30 น. จากนั้นในเวลา 11.00 น. ผู้บริหารกระทรวงพลังงานพร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดทั้งหมดจะชี้แจงสถานการณ์พลังงานในเวลา 11.00 น. นำโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงฯ อาทิ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยจะมีการชี้แจงถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์รัสเซียบุกโจมตียูเครน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการต่อไปจากนี้
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดเผยถึงมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งทั้งสองมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดหลัง 31 มี.ค. 2565 นี้ ว่ากระทรวงพลังงานจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงการดูแลราคาค่าไฟฟ้าประชาชนที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2565 ด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแนวทางการดูแลราคาพลังงานของประชาชน โดยระบุว่า ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อค่าครองชีพของเราชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อน เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) รวมทั้งการอุดหนุนเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิกฤตต่างๆ ยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของราคาพลังงานโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนการรองรับสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้า และเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม
สำหรับมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น
1. โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด “Hydro Floating Solar Hybrid System” ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ลักษณะสำคัญคือเป็น “ทุ่นลอยน้ำ” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ รวมทั้งช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายกระแสไฟตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลายเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริดนี้ในเขื่อนอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้กับประชาคมโลก และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย
2. การขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น นโยบาย 30@30 ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น “ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ออก มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) เงินอุดหนุน : รถยนต์/รถกระบะไฟฟ้า 70,000 – 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท/คัน (2) ลดภาษีสรรพสามิต : รถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 2% และรถกระบะไฟฟ้าเหลือ 0% (3) มาตรการอื่นๆ : ลดอากรนำเข้า สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร เป็นต้น