ผลจากนโยบายการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี20อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.2561 จนถึงปัจจุบันโดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยราคาให้ถูกกว่าดีเซลทั่วไป ลิตรละ5 บาท รวมทั้งการปรับราคาNGVรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้สะท้อนต้นทุนจริง ส่งผลกระทบต่อการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ช่วง6เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปี2562 ลดลงถึง 10.8%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ปั๊มNGV นอกแนวท่อทยอยปิดกิจการลง
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ข้อมูลที่กรมธุรกิจพลังงานนำเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ระบุตัวเลขการใช้ NGV ช่วง6เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ เฉลี่ยต่อวันเหลืออยู่ที่ 5.62 ล้านกก./วัน หรือลดลงประมาณ 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญมาจาก นโยบายที่ให้มีการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้ง นโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ที่ขายต่ำกว่าราคาดีเซลทั่วไป ลิตรละ5บาท ทำให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบรรทุกสินค้า รวมทั้งรถยนต์ทั่วไปที่เคยใช้NGV เปลี่ยนมาใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 และน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ทดแทน ส่งผลให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31ก.ค.2562 ได้เห็นชอบการต่ออายุอุดหนุนราคาดีเซลบี 20 ให้ต่ำกว่าบี 7 ลิตรละ 5 บาทออกไปอีก 2 เดือนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องเข้ามาอุดหนุนราคา มีภาระการชดเชยนับตั้งแต่ดำเนินมาตรการดังกล่าวช่วงก.ค.2561 ซึ่งเริ่มจากส่วนต่าง 3 บาทต่อลิตรและขยายเป็น 5 บาทต่อลิตรถึงสิ้นก.ย.2562 รวมทั้งสิ้น 2,781 ล้านบาท โดยตัวเลขการใช้ดีเซลบี20ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ5ล้านลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ตามแผนระยะยาวสำหรับการส่งเสริมดีเซลบี 7 บี 10 และบี20 อย่างไรให้เหมาะสม ทางกรมธุรกิจพลังงานจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน