เผยนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่2 ซึ่งจะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.2562 เน้นการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาส ให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงาน ซึ่งอาจจะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ พีดีพี2018 ใหม่ให้มีความชัดเจนในเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานถึงสาระสำคัญของนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.2562 ว่า ได้ถูกบรรจุไว้ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในข้อที่ 5.6.3 โดยระบุถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ และเปิดโอกาส ให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่มีเนื้อหาดังกล่าว อาจจะทำให้รัฐมนตรีพลังงานต้องมีการพิจารณาทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือพีดีพี 2018 ใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน กับพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม จากพีดีพี 2018 ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักถึง53% รวมทั้งการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนในการส่งเสริมพลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ จากที่พีดีพี 2018 เน้นเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 10,000เมกะวัตต์ และ ขยะชุมชน 400เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ยังมีเนื้อหาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมัน ดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทําแนวทางการใช้มาตรฐาน น้ำมัน EURO 5 การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า อัจฉริยะ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน
รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้าง ตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้าง อัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการกํากับ ดูแลกิจการด้านพลังงานให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน ที่แท้จริง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจด้านพลังงานในอนาคต
การดําเนินการให้มีการสํารวจและค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาพลังงาน ด้วย
นอกจากนี้ในหัวข้อที่ 5.6.4 ยังระบุถึงการยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มี
ความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยจัดทําแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบ ให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคต มุ่งเน้น การพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต