เผย กฟผ.แบกภาระหนักอึ้งช่วยตรึงค่าไฟ ตามนโยบายภาครัฐ ยอดตัวเลขถึงสิ้น ธ.ค.2565 นี้ ทะลุ 1.5 แสนล้านบาท โดยหาก กกพ.ไม่พิจารณาปรับค่าไฟฟ้าเพื่อคืนภาระให้ภายใน 2 ปี จะกระทบสัดส่วนการหารายได้ ต่อความสามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ของกิจการ กระทบการนำเงินรายได้ส่งรัฐ การชำระค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท. และการลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สาระสำคัญในหนังสือที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ส่งถึง ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินจากการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐในการแบกภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าตัวเลขที่ทาง กกพ.ให้ความเห็นชอบ ( Accommulated Factor -AF )ในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 จนถึง ส.ค. 2565 คิดเป็นเงินสะสม 125,880 ล้านบาท โดยประเมินตัวเลขภาระถึงเดือน ธ.ค. 2565 จะสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ไม่อาจจะแบกรับภาระเพิ่มได้อีก
ถึงแม้ว่า กฟผ. จะได้รับเงินกู้เพื่อบริหารค่าเอฟทีตามนโยบายของภาครัฐ ในเดือน พ.ย. 2565 จำนวน 20,000 ล้านบาท และในเดือน มี.ค.2566 อีกจำนวน 35,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2.5 %
แต่ในปี 2566 กฟผ. มีภาระที่ต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการต่างๆ รวมประมาณ 76,000 ล้านบาท ได้แก่ เงินลงทุนในโครงการ LNG ReceivingTerminal ที่หนองแฟบ ในเดือน ธ.ค. 2565 จำนวน 3,000 ล้านบาท และในเดือน ก.พ.2566 อีกจำนวน 13,357 ล้านบาท
เงินนำส่งรัฐสำหรับผลประกอบการปี 2564 งวดที่ 2 ที่เลื่อนจ่ายจาก 30 ก.ย.2565 เป็น 23 ม.ค. 2566 จำนวน 6,007 ล้านบาท
เงินนำส่งรัฐสำหรับผลประกอบการปี 2565 งวดที่ 1 ที่เลื่อนจ่ายจาก 21 ต.ค. 2565 เป็น 23 มี.ค. 2566 จำนวน 8,491 ล้านบาท และงวดที่ 2 จ่ายวันที่ 21 เม.ย. 2566 อีก จำนวน 8,650 ล้านบาท
ค่าก๊าซธรรมชาติ เหลือจ่าย ปตท. จาก 30 พ.ย. 2565 , 29 ธ.ค. 2565 และ 4 ม.ค. 2566 เป็น 28 ก.พ.2566 จำนวน 26,000 ล้านบาท
รวมถึง ค่าน้ำมัน ที่ครบกำหนดจ่าย 28 ก.พ. 2566 อีกจำนวน 10,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ในการคิดคำนวณค่าเอฟที ของ กกพ. สำหรับงวดเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2566 หากมีการปรับขึ้นเป็น 143.21 บาทต่อหน่วย โดยที่ กฟผ.ยังไม่ได้รับคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ช่วยรับภาระไว้ก่อน จะมีผลให้สภาพคล่องของ กฟผ.จะเริ่มติดลบตั้งแต่ 30 ม.ค.2566 เป็นจำนวน 4,500 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึง วันที่ 28 ธ.ค. 2566 ที่จะติดลบสูงสุดถึง 75,000 ล้านบาท จากที่สภาพคล่องของ กฟผ. ได้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพคล่องที่ติดลบของ กฟผ. ในปี 2566 ยังกระทบต่อสัดส่วนการหารายได้เทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ ตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ อีกด้วย