ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน อาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่าราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย เหตุใดจึงมีการปรับขึ้น-ปรับลงอยู่บ่อยครั้ง อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามาทำความรู้จักกันว่าในน้ำมันทุก 1 ลิตรนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ร้อยละ 40 – 60) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย
2) ภาษีต่างๆ (ร้อยละ 30 – 40) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ ได้แก่
– ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
– ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บร้อยละ 7 ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีกร้อยละ 7 ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
3) กองทุนต่างๆ (ร้อยละ 5 – 20) เช่น
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
4) ค่าการตลาด (ร้อยละ 10 – 18) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
เมื่อทำความรู้จักโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยแล้ว จะพบว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันของไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน และราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นและปรับลงได้เช่นกัน
#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
#สนพ
#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน
*** ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
–
–