เปิดแผน5ปี กกพ.ใช้งบ5พันล้าน เน้นกำกับให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาพลังงานหมุนเวียน

917
- Advertisment-

เปิดแผนยุทธศาสตร์กกพ.ในระยะ5ปี (2563 – 2567 ) ใช้วงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 40 หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ รองลงมาคือการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนฯ  โดยมีกลยุทธ์สำคัญ10ด้านหวังตอบโจทย์วัตถุประสงค์ ทั้ง9 ข้อ

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์กกพ.ในระยะ5ปี (2563 – 2567 ) ว่าเป็นการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2561-2564 ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ตลอดจนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2561-2580) รวมทั้งบริบทที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งทิศทางการพัฒนาพลังงานโลกและการพัฒนาพลังงานในอนาคตให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบรรณตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 และได้ประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และกระจายชนิดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ กกพ. พ.ศ. 2563 – 2567 ประกอบด้วย 9 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่

- Advertisment -

(1) ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และมีความเป็นธรรม ต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

(2) ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งด้านอัตราค่าบริการ และคุณภาพการให้บริการ

(3) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน

(4) ส่งเสริมให้การบริการของระบบโครงข่ายพลังงานเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

(5) ส่งเสริมให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงาน

(6) ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมี
ส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

(7) ส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ

(8) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

(9) มีการบริหารจัดการองค์กรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพด้านการกำกับกิจการพลังงาน

การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีการจัดสรรงบประมาณ ที่ได้รับมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการประกอบกิจการพลังงาน มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพฯ วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน
พ.ศ. 2550 รองลงไปเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบฯ วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด และกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนฯ วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด

ทั้งนี้การกำหนดกลยุทธ์สำคัญ 10 ด้านหลัก ที่กกพ.จะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ เช่น 1. การปรับปรุงระบบการกำกับกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้มีพลังงานที่เพียงพอ และมั่นคง โดยปรับปรุงระบบการอนุญาตทั้งระบบการออกใบอนุญาตให้สอดคล้องตามขนาดโรงไฟฟ้าและประเภทเชื้อเพลิง รวมทั้งปรับปรุงการให้บริการการออกใบอนุญาตให้มีประสิทธิภาพ บูรณาการการทำงานในด้านการจัดหาพลังงาน การกำหนดมาตรฐานการประกอบกิจการพลังงาน และอัตราค่าบริการพลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับแผนพัฒนากิจการด้านพลังงาน และนโยบายรัฐบาล

2.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับอัตราค่าบริการพลังงาน (ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ) ให้มีความโปร่งใส และได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น โดยกำกับดูแลการกำหนดอัตราค่าบริการทั้งด้านต้นทุนและอัตราผลตอบแทนตามมาตรฐานสากล ให้อัตราค่าบริการอยู่ในระดับที่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถรับภาระได้

3.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยจัดทำระบบข้อมูลที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการประกอบกิจการพลังงานที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน ใช้งานง่าย และเพียงพอต่อการใช้ประกอบการวางแผน และลงทุนของผู้ประกอบการ และเผยแพร่ต่อสาธารณะ

4.การจัดทำมาตรฐานการให้บริการของระบบโครงข่ายเพื่อให้มีมาตรฐานการบริการระดับสากล โดยจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการขอใช้และเชื่อมต่อไฟฟ้า และบูรณาการข้อกำหนดการเชื่อมต่อโครงข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจัดทำหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าบริการในการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง

5.การส่งเสริมการประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงาน โดยจัดทำประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice : Cop) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ให้ครบถ้วนทุกประเภทเชื้อเพลิง และพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 51 และมาตรฐานทางวิศวกรรมตามมาตรา 72 และมาตรา 89 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างครบถ้วน

6.การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตอย่างเป็นระบบเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยปรับปรุงระเบียบด้านการมีส่วนร่วมให้ทันสมัย สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม  ได้แก่ Cop EIA/ EHIA รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเกี่ยวกับการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กับคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และสำนักงาน กกพ. ประจำเขต

7.การพัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานด้านการกำกับประสิทธิภาพการประกอบกิจการพลังงาน และศึกษารูปแบบธุรกิจการประกอบกิจการพลังงานที่ประหยัดการใช้ทรัพยากร และสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทดลอง และพัฒนาการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

8.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้การประกอบกิจการไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยกำหนดมาตรฐานการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และสนับสนุนการศึกษามาตรการด้านราคา เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบ
ที่เกี่ยวข้อง

9.พัฒนาระบบบริหารจัดการการปฏิบัติงานของสำนักงาน กกพ. ให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ตอบสนองความต้องการและให้บริการอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส โดยสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการกำกับกิจการพลังงานให้เป็นสากล และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีระบบบริหารและบริการเทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวทางของ พ.ร.บ. การบริหารและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

10 พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพด้านการกำกับกิจการพลังงาน โดยพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็นระบบและมีมาตรฐาน ปรับปรุง และทบทวนบทบาทของบุคลากรของสำนักงาน กกพ. ประจำเขตเกี่ยวกับการกำกับกิจการพลังงาน และการบริหารงานกองทุนให้ชัดเจนและมีความเหมาะสม รวมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

 

Advertisment