เปิดเสรีก๊าซฯระยะ 2 สะดุด เอกชนยังเมินนำเข้า LNG โควต้าปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตัน

1047
- Advertisment-

พลังงาน ยอมรับเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 สะดุด เหตุราคา LNG ตลาดโลกแพง Shipper รายใหม่เมินนำเข้า ชี้ปี 2565 มีเพียง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้าได้บางส่วน หลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องหยุดนำเข้าและให้ ปตท.รับผิดชอบนำเข้าแทน ส่วนปี 2566 โควต้า 3.02 ล้านตัน ยังไม่มีรายใดแจ้งใช้โควต้า ชี้ราคา LNG ยังสูง ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุโควต้าเปิดเสรีก๊าซฯระยะ 2 หมดปี 2566 นี้ ต้องรอภาครัฐเปิดโควต้าใหม่ แนะเปิดระยะยาว 10 ปี เพื่อให้เอกชนวางแผนบริหารก๊าซฯ ได้ชัดเจน  

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยอมรับว่าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 (ช่วงปี 2564-2566)ของภาครัฐเกิดการสะดุด โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ที่มีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ได้เพียงรายเดียว ประมาณ 1.3 แสนตัน ช่วง เม.ย.-พ.ค. 2565 จากโควต้าปี 2565 รวม 4.5 ล้านตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน หลังจากนั้น กฟผ.ไม่สามารถนำเข้า LNGได้อีก เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการชดเชยราคาค่าไฟฟ้าประชาชนจำนวนมาก โดยโควต้าที่เหลือภาครัฐได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)  เป็นผู้นำเข้า เพื่อดูแลโรงไฟฟ้าเดิมที่ต้องการใช้ก๊าซฯ เป็นหลัก

ขณะที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายอื่นๆ จากที่มีทั้งหมด 7 ราย ยังไม่มีรายใดแสดงความสนใจนำเข้า เนื่องจากราคา LNG โลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีราคาเพียง 10-20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู

- Advertisment -

ส่วนโควต้าเปิดเสรีก๊าซฯ ในปี 2566 ที่มีอยู่ 3.02 ล้านตัน ก็ยังไม่มี Shipper รายใดแสดงความสนใจจะใช้โควต้าดังกล่าว เนื่องจากราคา LNG โลกยังผันผวนและมีราคาแพง โดยหากไม่มีรายใดสนใจนำเข้า ทางภาครัฐก็ต้องมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้นำเข้าเพื่อป้อนความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเดิม ที่ขาดแคลนก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ และโรงไฟฟ้าใหม่ คือ โรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน ของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กรณีที่ บี.กริมฯ ไม่นำเข้า LNG ในปี 2566  

สำหรับที่ผ่านมา บี.กริมฯ เสนอ กกพ.ขอนำเข้า LNG  6.5 แสนตันต่อปี ภายในปี 2566 เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง ต่อมา บี.กริม ได้ขอขยายการนำเข้าเพิ่มอีกไม่เกิน 5.5 แสนตันต่อปี สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการของกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ อีกจำนวน 13 ราย แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานการขอนำเข้ามายังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามมีเพียงปี 2564 ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่มีการสมัครเป็น Shipper จำนวนมากถึง 7 ราย และมีการใช้โควต้า 4.8 แสนตัน โดย กฟผ.ใช้ 3 แสนตันและ ปตท.ใช้ 2.4-3 แสนตัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคา LNG เพียง 10-20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า การเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่กำหนดโควต้านำเข้า LNG เพียง 3 ปี คือ ปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตัน แต่นำเข้าจริง 6 แสนตัน ,ปี 2565 กำหนดโควต้า  4.5 ล้านตัน และปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตันนั้น ถือว่าระยะเวลาน้อยเกินไป ที่ผ่านมาเคยเสนอให้กำหนดโควต้าเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อหมดโควต้าปี 2566 แล้ว จำเป็นต้องรอภาครัฐกำหนดโควต้าการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ออกมาอีกครั้งก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการได้ 

ทั้งนี้  บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด(HKH) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper เพื่อจัดหา LNG ป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกองโดยตรง จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี มีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) เฟสแรก 700 เมกะวัตต์ ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 และเฟส 2 อีก 700 เมกะวัตต์ COD วันที่ 1 ม.ค. 2568 ดังนั้นจะต้องรอโควต้าเปิดเสรีก๊าซฯ ของปี 2567 จากภาครัฐก่อน  

Advertisment