หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา และทำงานมาได้เกือบ 2 เดือน ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หญิงคนแรกของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ก็มีโอกาสได้มาพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ พร้อมขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์และอธิบายถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ พร้อมอัพเดทความคืบหน้าโครงการลงทุนที่สำคัญของ EGCO Group
ผลักดันเป้าหมาย 3 ด้าน ด้วยวิสัยทัศน์ “เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพื่อการเติบโตของ EGCO Group อย่างยั่งยืน”
ประเด็นที่น่าสนใจ ที่ ดร.จิราพร บอกผ่านสื่อมวลชนไปถึงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย คือวิสัยทัศน์ “เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพื่อการเติบโตของ EGCO Group อย่างยั่งยืน” หรือ “Empowering for EGCO Group Sustainable Growth” โดยยังคงมุ่งสานต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจ “Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth” อย่างต่อเนื่อง
“ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group มีความมุ่งมั่นในการเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสให้ EGCO Group เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน นั่นคือ การเพิ่มกำลังผลิตใหม่ (Capacity/Portfolio) ทั้งกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การบริหาร Portfolio ให้มีประสิทธิภาพ สร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลถึงการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น (Dividend) และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit Rating) ตามมา ควบคู่กับการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม (Green) ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ตามกรอบ ESG ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียและอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน” ดร.จิราพร อธิบายถึงเป้าหมายสำคัญ 3 ด้านที่จะต้องผลักดัน
Cleaner, Smarter & Stronger
ดร. จิราพร อธิบายเพิ่มเติมถึงทิศทาง “Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth” ที่ EGCO Group มุ่งมั่นสานต่อว่า Cleaner คือ เน้นการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า การศึกษาและใช้เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage – เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) หรือ CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage – เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ) การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดใน Portfolio เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573
ส่วน Smarter เป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า โดยลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง พร้อมกับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องที่มีการเติบโตสูง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และ Stronger คือการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยายและต่อยอดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง EGCO Group มีความได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา) ที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว พร้อมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานให้เยาวชนผ่านศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ตลอดจนการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า
ครึ่งปีหลัง ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ 4S
สำหรับการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2567 นั้น ดร.จิราพร บอกว่า จะขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “4S” ดังนี้
- S แรก คือ Strengthen financial performance คือสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการเงินและการปรับปรุงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ
- S ที่สอง คือ Select high quality projects การเลือกลงทุนในโครงการที่มีคุณภาพสูงและมีผลตอบแทนที่ดี
- S ที่สาม คือ Streamline portfolio and improve operation เป็นการบริหาร Portfolio และโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 40 แห่ง รวมทั้งธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
- S ที่สี่ คือ Speed up projects under construction เป็นการเร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เสร็จตามแผนงาน เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้ EGCO Group เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเร่งรัดการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน ซึ่งมีความก้าวหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ ปัจจุบันได้ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) แล้วเสร็จรวม 74 ต้น ซึ่งได้ติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generators – WTGs) เสร็จเรียบร้อยแล้ว 50 ต้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 ตามแผนที่กำหนด
–
“การดำเนินงาน 6 เดือนหลัง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ EGCO Group โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตใหม่และการสร้างรายได้และกำไร ได้แก่ การรับรู้รายได้จากการทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการ Yunlin การรับรู้รายได้ของ APEX ในสหรัฐอเมริกา จากการขายโครงการและจาก 7 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2567 การรับรู้รายได้จากการลงทุนใน CDI ในอินโดนีเซีย และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ES ในเกาหลีใต้ ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที รวมทั้งโอกาสในการเจรจาสัญญาใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดสัญญา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2567” ดร.จิราพร กล่าวย้ำถึงปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของ EGCO Group ในช่วงครึ่งปีหลัง
ในสหรัฐอเมริกา
สำหรับการลงทุนใน CDI ในอินโดนีเซีย ก็มีความร่วมมือที่ก้าวหน้า โดยมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนพันธกิจในการพัฒนาพลังงานสีเขียว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) และโครงการแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) กำลังผลิตรวม 35 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 นี้ และจะทยอยแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้บางส่วนภายในปี 2568 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาโอกาสเพิ่มเติมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนศึกษาเพื่อเตรียมขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้า KPE เพื่อรองรับโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม Krakatau Posco
โอกาสจากธุรกิจครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ดร.จิราพร ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานที่เกี่ยวเนื่องที่ EGCO Group เข้าไปลงทุนว่า มีความครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ Upstream คือ ธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว “เอ็กโกระยอง (ERIE)” ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ต่อมา Midstream คือ ธุรกิจไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable จำนวนรวม 42 แห่ง ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ และ Downstream คือ ธุรกิจ Customer Solutions และ Start up อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของปี 2567 กว่า 93% ยังมาจากกลุ่ม Midstream ซึ่งเป็นรากฐานของธุรกิจที่แข็งแกร่ง หรือ Core Business แต่ในอนาคต กำไรจาก Upstream และ Downstream จะเริ่มมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ดร.จิราพร ยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของ EGCO Group ที่จะได้รับจากนโยบายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศส่วนขยาย ที่ภาครัฐจะเปิดเพิ่มเติมในรอบที่ 2 กำลังผลิตประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ รวมถึงการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ภายใต้ร่างแผน PDP 2024 และการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขายไฟฟ้าตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ในอนาคต
“ในปี 2567 EGCO Group เตรียมวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนที่กำลังดูอยู่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเลือกลงทุนในโครงการที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุด หรือโครงการที่ต้องเข้าไปพัฒนา หรือโครงการที่จะเข้าไปทำ M&A (Mergers and Acquisitions) ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที ก็เป็นสิ่งที่เราสนใจ ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนทั้งหมดก็เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนของเรา” ดร.จิราพร กล่าวสรุป
–