เปิดปีใหม่ 2567 ฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังทรงตัวที่ติดลบ 78,557 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ทยอยเบิกเงินกู้ในธนาคารมาพยุงกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2566 จาก 75,000 ล้านบาท จนเหลือเงินกู้ที่เบิกได้อีกเพียง 30,333 ล้านบาท ชี้หากเงินกู้หมดลงท่ามกลางสถานการณ์กองทุนฯ ที่ยังไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มที่กระทรวงพลังงานต้องขอรัฐบาลเปิดกรอบวงเงินกู้รอบสอง
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้นปี 2567 ว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานสถานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 พบว่ากองทุนฯ ยังคงติดลบ 78,557 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการนำเงินไปอุดหนุนราคาดีเซล ส่งผลให้บัญชีน้ำมันติดลบรวม 32,444 ล้านบาท และอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ทำให้บัญชี LPG ติดลบ 46,113 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับผู้ใช้น้ำมันดีเซลจาก 3.54 บาทต่อลิตร เหลือ 2.99 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น จึงต้องลดการเก็บเงินลงเพื่อนำเงินไปชดเชยค่าการตลาดให้กับผู้ค้าน้ำมัน
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 5 ม.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 78.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 72.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 77.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าได้รับ ในวันที่ 5 ม.ค. 2567 ซึ่งรายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันดีเซลเหลือ 1.68 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินยังสูงอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดน้ำมันตั้งแต่ 1-5 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 2.65 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร) ดังนั้นหากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น จนทำให้ค่าการตลาดลดต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร ทาง กบน.อาจพิจารณาปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนฯ อีกครั้ง เพื่อชดเชยค่าการตลาดให้กับผู้ค้าน้ำมันดีเซลได้
สำหรับปัจจุบันกองทุนฯ ประสบปัญหาเงินไหลออก 131.76 ล้านบาทต่อวัน จากการชดเชยราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ยังมีรายรับจาก LPG 2.95 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นเท่ากับแต่ละวันกองทุนฯ มีเงินไหลออกรวม 128.81 ล้านบาทต่อวัน หากสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนฯ ประสบปัญหา สกนช. อาจพิจารณาเบิกเงินกู้จากสถาบันการเงินอีกรอบ
โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา สกนช. ได้ทำเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินไว้รวม 105,333 ล้านบาท โดยเบิกเงินจากสถาบันการเงินออกมาใช้แล้ว 75,000 ล้านบาท ดังนั้นยังเหลือเงินกู้ที่จะเบิกได้อีกเพียง 30,333 ล้านบาทเท่านั้น และหากเงินกู้ดังกล่าวหมดลงท่ามกลางสถานการณ์กองทุนฯ ที่ยังติดลบสูงอยู่ กบน.อาจต้องพิจารณาหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอกรอบวงเงินกู้อีกครั้ง (จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลเคยให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยได้กู้ไปแล้วรวม 1.05 แสนล้านบาท)