เปิดนโยบายพลังงานปี 2568 รัฐมุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด

603
- Advertisment-


เปิดนโยบายพลังงานปี 2568 รัฐมุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด  ควบคู่การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ ในขณะที่ 3 การไฟฟ้า ทั้ง EGAT MEA และ PEA เตรียมพร้อมลงทุนรับมือพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต 

งาน IEEE PES Dinner Talk 2024 โดย สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ ไฮไลท์ที่น่าสนใจอยู่ที่การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางพลังงานไทย” โดย ดร.ประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ  ปลัดกระทรวงพลังงาน และการเสวนาบนเวที หัวข้อ ”ระบบไฟฟ้าและพลังงานรูปแบบใหม่ : การพลิกโฉมสู่ความล้ำสมัยและความพร้อมในการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(MEA) และ นาย ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ซึ่งได้รับความสนใจรับฟังจากบุคคลในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้า อย่างคับคั่ง 

ดร.ประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ  ปลัดกระทรวงพลังงาน

โดยสรุปเนื้อหาสำคัญที่ ดร.ประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ  ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญของไทยในปี 2568 ว่า จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 60% และมีสัดส่วนพลังงานสะอาด ประมาณ 26% นั้น ในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP2024 ภายในปี 2580 สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติจะลดลงเหลือ 41 % และสัดส่วนพลังงานสะอาดจะเพิ่มเป็น 51%  โดยเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ที่แต่ละประเทศมีเป้าหมายชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นเงื่อนไขด้านการค้าการลงทุนในอนาคต 

- Advertisment -

ส่งเสริมพลังงานสะอาดเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

ทั้งนี้นโยบายพลังงานของไทยมองทิศทางการส่งเสริมพลังงานสะอาดเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  โดยเตรียมพร้อมที่จะเป็น Digital. Hub ของอาเซียน ซึ่งการที่นักลงทุนหลายรายสนใจที่จะลงทุนในโครงการ Data Center และ Cloud Service เห็นได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 167,989 ล้านบาท เพราะเรามีการเตรียมความพร้อมเรื่อง Direct PPA กว่า 2,000 เมกะวัตต์ รวมถึงนโยบายไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff  เอาไว้ เพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องการคือ ไฟฟ้าสะอาด ทั้ง 100% หรือ RE100 และต้องเป็นไฟฟ้าที่มีคุณภาพ จึงเป็นความท้าทายของ 3 การไฟฟ้า ทั้ง  EGAT , MEA , PEA ว่าจะทำอย่างไรให้ไฟฟ้าที่ใช้มีความมั่นคงและมีคุณภาพ ไม่มีไฟฟ้าตกหรือดับ พร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา  ในขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้า นักลงทุนมองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป

ส่งเสริมการจัดการแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ 

นอกจากนี้ ในนโยบายพลังงานปี 2568 ยังมีเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงบนบก รอบที่ 25  คาดว่าจะมีปริมาณทรัพยากรน้ำมันดิบ ประมาณ 5.76 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 20.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีเงินลงทุนในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม ไม่น้อยกว่า 73.75 ล้านเหรียญสหรัฐ  นอกจากนี้ จะมีการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 26 ในทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งมีหลายบริษัทให้ความสนใจเพราะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะพบปิโตรเลียม   และพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือOCA ที่กำลังอยู่ในความสนใจและเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งเอราวัณที่มีการผลิตปิโตรเลียมอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยหากรัฐบาลสามารถเจรจาได้ข้อยุติและสามารถเข้าไปพัฒนานำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยลดการนำเข้าพลังงาน จากปัจจุบันที่ไทยต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้ากว่า 75% ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และ ช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลง   โดย ดร.ประเสริฐ กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่าการเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา จะไม่กระทบเรื่องเขตแดน ไม่ทำให้ไทยเสียพื้นที่เกาะกูด อย่างแน่นอน 

“ การที่ไทยต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าถึงร้อยละ75 ทำให้ราคาน้ำมันหรือ LNG ตลาดโลก ที่มีปัจจัยจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อราคาในประเทศ ดังนั้นการที่เรามีแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการนำเข้า และช่วยลดต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าลงได้ ” ดร.ประเสริฐ กล่าว

นโยบายพลังงานในปี 2568 ยังสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหรือ Energy Transition ด้วย เช่น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฏระเบียบรองรับการใช้งานพลังงานไฮโดรเจน  การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบมาใช้ผลิต เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน(SAF)ให้เพียงพอต่อการใช้งานในปี 2569  และการใช้ประโยชน์แหล่งปิโตรเลียมให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (CCS) โดยมีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นศึกษาแหล่งปิโตรเลียมอาทิตย์ ในอ่าวไทย ส่วนบนบก ก็มีที่แม่เมาะ และน้ำพอง

โดยนโยบายพลังงานของไทย ยังคงยึดมั่นใน 3 หลักการสำคัญคือ ระบบไฟฟ้ามั่นคง(Security) มีราคาที่เหมาะสม (Economy)และมีความยั่งยืน (Sustainable) 

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

เปลี่ยน Fossil Based เป็น Green Based โจทย์ท้าทาย กฟผ.

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)กล่าวถึงการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบจำนวนมากในอนาคตกว่า 50 % ว่าจะทำอย่างไร ให้ยังมีความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะเป็นเหมือนการเปลี่ยนจาก Fossil Based เป็น Green Based  ว่าถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ กฟผ.  เพราะทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงที่มีแสงแดดและมีลมเท่านั้น ต่างจากพลังงานฟอสซิลที่ผลิตไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงในทุกๆวัน

ในอดีตเวลาดูเรื่องความมั่นคง กฟผ.จะบริหารเรื่องดีมานด์และซัพพลายให้เท่ากันตลอดเวลา  แต่วันนี้แสงแดดและลมไม่ทราบว่าจะมาตอนไหน จึงต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเช่น Virtual  Power Plants -VPP , RE Forecast Center และ Grid Modernization รวมถึงตัวโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ก็ต้องมีความยืดหยุ่นที่จะหรี่กำลังการผลิตลงได้ เมื่อมีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม ส่งเข้ามาในระบบ และต้องสามารถที่จะเร่งกำลังการผลิตเข้าไปทดแทนให้ได้ ในช่วงที่ไม่มีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และลม  อย่างไรก็ตาม การหรี่กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าหลักยังทำได้จำกัด บางช่วงที่มีกำลังผลิตส่วนเกิน กฟผ.จึงต้องนำไปใช้ประโยชน์อื่นเช่นเก็บไว้ในระบบแบตเตอรี่   การนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าระบบสูบกลับ หรือในอนาคตกำลังมองเรื่องการนำไปผลิตเป็นไฮโดรเจน  รวมถึงในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าทางเลือก เช่นโรงไฟฟ้าSMR หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงในระบบด้วย 

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(MEA)(กลาง)

MEA ปรับระบบรองรับทุกพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเมืองในอนาคต 

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(MEA) กล่าวว่า MEA มุ่งสู่การเป็นการไฟฟ้าของคนเมืองยุคใหม่ ที่เน้นทั้งเรื่องความมั่นคงของไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ และความยืดหยุ่นของระบบที่สามารถรองรับทุกพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า  โดยในยุทธศาสตร์ขององค์กร MEA มองไปในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร  จะกลายเป็น Smart City., Smart Mobility   Smart Government  Smart Economy เรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การเข้ามาของ Data Center ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เรื่องของ Head Quarter ที่จะเข้ามาตั้งสำนักงาน  การขนส่งที่จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น วัฒนธรรมการอยู่อาศัย การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป  ในขณะที่เมืองก็ต้องการทัศนียภาพ ความสวยงาม  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ MEA ต้องนำมาคิดออกแบบ วางแผน กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ ว่าจะนำ MEAเข้าไปรองรับทุกความต้องการใช้นี้ได้อย่างไร 

MEA เราเอาความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นตัวตั้ง ซึ่ง เป็นที่มาของการปรับระบบสายส่งจาก Conventional Grid  เป็น Smart  Metro Grid  เป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน เราติดตั้งอุปกรณ์ ระบบจำหน่าย จะเป็น Smart Equipment เน้นเรื่องของความปลอดภัย  MEA มีแผนวางระบบสายใต้ดินให้ได้ 300 กิโลเมตรในปี2572  แต่ยังมีพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่จะต้องวางระบบสายใต้ดินอีกกว่า1,000กิโลเมตร ซึ่ง MEA พยายามที่จะทำให้ได้มากที่สุด 

ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)(ซ้าย)

PEA เข้าใจระบบจำหน่ายตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และลงมือทำทันที

นาย ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า พลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องกับ PEA จะเป็นขนาดเล็กและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตลอด   ทั้งนี้ อนาคตของระบบจำหน่ายไฟฟ้า PEA จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจระบบจำหน่ายตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง  เพื่อปรับอุปกรณ์ ระบบต่างๆให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ครบทั้ง 12 เขตที่ PEA ให้บริการ เพื่อให้เป็น Smart Transformers ไม่ว่าพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปทั้งการชาร์จรถอีวี ที่ไม่แน่นอน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่เสถียร  พีคไฟฟ้าที่เปลี่ยนเวลาไป ทั้งหมดนี้ PEA จะต้องมองเห็นและคาดการณ์ได้ทั้งหมด เพื่อที่จะเข้าไปควบคุมให้ได้   

เขากล่าวด้วยว่า ในอนาคตนักลงทุนที่ต้องการพลังงานสะอาด เช่นกลุ่ม Data Center ไม่ว่าจะเป็นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หรือ 1,000 เมกะวัตต์ PEA จะต้องเป็น One Stop Service ที่ต้องประสานให้เกิดขึ้นให้ได้บนระบบจำหน่ายของ PEA  โดยล่าสุดที่เพิ่งมีการลงนาม PEA มีการคิดค่าบริการสายจำหน่ายโดย บวกเพิ่มแค่ 0.059 บาทต่อหน่วย ซึ่งจูงใจให้เกิดการลงทุน 

“PEA รู้บทบาทและลงมือทำให้เห็นทันที ไม่ใช่ใส่ไว้แค่ในยุทธศาสตร์เท่านั้น ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญในเรื่องของคน เราส่งคนไปอบรมในหลักสูตรต่างๆ เพื่อที่จะให้สามารถทำงานรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้” นายศุภชัย กล่าว 

Advertisment