ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวทั่วโลกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ หลายคนอาจคิดว่า ลำพังแค่ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ก็สามารถช่วยโลกได้แล้ว…แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เพราะไม่ใช่แค่ทิ้งไว้ตามธรรมชาติแล้วพลาสติกเหล่านั้นจะสามารถย่อยสลายได้เองอย่างรวดเร็วจนไม่เหลือร่องรอยอยู่บนโลก
แต่การย่อยสลายต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการย่อยสลายด้วย เช่น อยู่ในโรงหมัก มีอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส มีอากาศถ่ายเท ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เป็นต้น จึงจะนำไปสู่การย่อยสลายแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับการย่อยสลาย พลาสติกเหล่านี้ก็ยังคงต้องรอการจัดการ โดยที่ห้ามรวมพลาสติกที่ย่อยสลายได้เหล่านี้ เข้ากับพลาสติกที่รีไซเคิลได้ชนิดอื่นอย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อมีการปะปนกันจะทำให้พลาสติกที่เคยรีไซเคิลได้กลายเป็นรีไซเคิลไม่ได้ ดังนั้น การใช้น้อยลงและนำกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นวิธีการจัดการพลาสติกที่ดีที่สุด

“Dow ในฐานะบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) รายสำคัญของโลก ซึ่งเป็นผู้คิดค้นพัฒนาวัสดุชนิดต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปสู่ “การใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน” นั่นคือ ใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพลาสติกที่ผลิตขึ้นมา ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ recycle ได้ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้พลาสติกเหล่านั้นหมุนเวียนอยู่ในระบบ ไม่หลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม” นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุบรรจุภัณฑ์ของ Dow
ปัจจุบันพลาสติกยังเป็นวัสดุที่มีประโยชน์และสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีบทบาทสำคัญมากในธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารสู่ผู้บริโภคที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน การถนอมรักษาคุณภาพอาหาร การแพคสินค้าเพื่อขนส่ง รวมถึงการเป็นบรรจุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ในทางการแพทย์ ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงประโยชน์ของวัสดุพลาสติกว่ามีคุณสมบัติที่ดี แต่ต้องการการจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเท่านั้น
“ทิศทางในการพัฒนาวัสดุเพื่อผลิตแพคเกจจิ้งของ ดาว คือ จะต้องเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งยังคงคุณสมบัติที่ดีในการเก็บรักษา ถนอมสินค้า และ ช่วยในการขนส่งสินค้า” คุณสุพจน์ย้ำ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Dow ได้มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการจัดการพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนใหม่ คือ ภายในปี 2593 Dow ตั้งใจจะเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ) โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เท่ากับ หรือ มากกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตของตัวผลิตภัณฑ์เอง นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นจะลดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 รวมถึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งสามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2578
สำหรับในประเทศไทย Dow เพิ่งเปิดตัว เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดพิเศษ “INNATE™” ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการจัดเรียงโมเลกุล ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรง เหนียว และทนทานกว่าเม็ดพลาสติกทั่วๆ ไป จึงสามารถใช้ปริมาณวัสดุน้อยลง แต่ให้ประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม ช่วยลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกลงถึง 18% ขณะที่ถุงเหนียวและแข็งแรงขึ้น 1 เท่าตัว และสามารถรีไซเคิลได้ 100%
และหลังเปิดตัว INNATE™ ร่วมกับแบรนด์ข้าวตราฉัตรซึ่งได้ใช้ถุงข้าวที่ทำจากเม็ดพลาสติกชนิดนี้ ก็เริ่มมีแบรนด์สินค้าหลายชนิดให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ โดยนายสุพจน์คาดว่าปีหน้า หลายแบรนด์น่าจะสนใจใช้งานเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ Dow ยังมีนวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่ช่วยในการรีไซเคิล “RETAIN™” ซึ่งช่วยผสานให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกหลายชนิดรวมกัน ซึ่งตามปกติรีไซเคิลไม่ได้ ให้สามารถหลอมรวมกันแล้วนำไปรีไซเคิลได้ จึงเป็นประโยชน์ที่จะนำเศษพลาสติกที่เกิดในโรงงานผลิตแพคเกจจิ้งไปหลอมใช้ซ้ำได้ และช่วยให้แพคเกจจิ้งใช้แล้วที่เคยรีไซเคิลไม่ได้ สามารถรีไซเคิลได้
การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยังมีส่วนช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรอาหาร โดยองค์การอาหารโลก (FAO) ระบุว่า มีขยะจากอาหารที่ยังไม่ถูกรับประทานราว 1.3 พันล้านตันต่อปี ซึ่งจำนวนนี้ใช้เลี้ยงคนได้ 3 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งโลก ในขณะที่ยังมีคนหิวโหยจำนวนมาก ซึ่งการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลนี้ สาเหตุมาจากอาหารไม่ได้เก็บอย่างถูกวิธี สภาพอากาศร้อน และบรรจุภัณฑ์ไม่ช่วยถนอมอาหาร Dow จึงมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อลดความสูญเสียอาหาร ผ่านการพัฒนาวัสดุทำแพคเกจจิ้ง เช่น ฟิล์มพลาสติกห่ออาหารที่ช่วยให้เก็บได้นานขึ้น สามารถนำอาหารส่วนนี้ส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลนได้จำนวนมาก แทนที่จะทิ้งเป็นขยะ
“การพัฒนาแพคเกจจิ้งให้มีคุณสมบัติที่ดีในการเก็บรักษาอาหาร จะช่วยลดปริมาณขยะจากอาหารที่ยังไม่ถูกรับประทานลงได้มาก ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดความสูญเสียทรัพยากร แต่ยังมีส่วนช่วยเรื่องโลกร้อนด้วย เพราะการเน่าเสียของอาหารทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนตามมา”
Dow ยังมีนวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอีกหลากหลาย เช่น พลาสติกชนิดพิเศษ SURLYN™ ที่ใช้ผลิตแพคเกจจิ้งสุญญากาศสำหรับของสด เช่น เนื้อสัตว์ โดยห่อหุ้มไปตามรูปของเนื้อเป็นชิ้นๆ ช่วยลดขยะแพคเกจจิ้งเพราะไม่ต้องมีถาดรอง สามารถลดปริมาณพลาสติกในแพคเกจจิ้งได้มากกว่า 80% ในขณะที่ช่วยยืดอายุของเนื้อสดได้นานกว่าเดิมถึง 9 เท่า ในเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มใช้แล้วในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นความร่วมมือกับห้างอิออน เพื่อเตรียมรับงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิค
นวัตกรรมเม็ดพลาสติก“Dow’s PCR” จากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเป็นครั้งแรกของ Dow ในเอเชีย แปซิฟิก ในการวางจำหน่ายเม็ดโพลิเอทิลีนที่ผสมพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค หรือ PCR (post-consumer resin) ถึง 40% โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 17% และประหยัดพลังงานได้กว่า 30% โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบ) และยังสามารถนำไปรีไซเคิลซ้ำได้อีกด้วย โดยใช้เป็นชั้นกลางของฟิล์มยืดหดเพื่อแพคสินค้า (collation shrink film) ได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น Dow ยังมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ Aging society ซึ่งต้องการบรรจุภัณฑ์แบบเป็นมิตรกับผู้ใช้ ฉีกง่าย แกะง่าย ไม่กินแรง แต่ปิดผนึกได้สนิท ได้แก่ พลาสติกชนิดพิเศษสำหรับถุงใส่สินค้าที่ฉีกเปิดด้วยมือเปล่าได้ง่าย “APPEEL™ Peel-able Polymer” และโพลีเมอร์เคลือบฝาปิดอาหารที่ช่วยให้เปิดใช้ได้ง่าย ลอกฝาออกได้สะดวก ไม่หกเลอะเทอะ “SEALUTION™ Peel Polymers” เพื่อใช้ในฝาโยเกิร์ต ฝาบะหมี่ถ้วย
จะเห็นได้ว่าจากมุมมองของบริษัทระดับโลกอย่าง Dow นวัตกรรมเพื่อผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้งนอกจากจะต้องส่งเสริมคุณสมบัติหลักในการเก็บรักษาสินค้าแล้ว ยังตอบโจทย์ทิศทางของโลกทั้งในเรื่องการลดปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกน้อยลงในการผลิต และคุณสมบัติการรีไซเคิลได้ตามแนวคิด Circular Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดการขยะพลาสติกที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้โลกได้อย่างยั่งยืน