เปิดฉากประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จับมือเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน

1302
- Advertisment-

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนพลังงาน ครั้งที่ 37 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะเจ้าภาพ เป็นประธานเปิดงาน ระบุความร่วมมืออาเซียนช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก พร้อมผนึก 10 ประเทศสมาชิกขยายความร่วมมือด้านพลังงานโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชี้อาเซียนกำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับตัวและร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงพลังงานในภูมิภาค เชื่อพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนจะกลายเป็นพลังงานหลักของอาเซียนในอนาคต   

วันนี้ (4 ก.ย. 2562) การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (AMEM) ครั้งที่ 37 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม รวมทั้งงาน ASEAN Energy Business Forum ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงานอาเซียน ในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เข้าสู่ยุคพลังงานที่มีความยั่งยืน โดยมี 10 รัฐมนตรีอาเซียนร่วมการประชุม ณ คริสตัลฮอลล์ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้อาเซียนเดินหน้าสู่การสร้างยุทธศาสตร์พลังงานของอาเซียนร่วมกันและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานระหว่างกันโดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง โดยขณะนี้อาเซียนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระแสโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ประกอบกับภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการพลังงานมากขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว และพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนจะกลายเป็นพลังงานหลักต่อไปในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การพัฒนาตลาดและการลงทุนด้านพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาค

- Advertisment -

ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศไทยจะผลักดันเป้าหมายของอาเซียนที่วางไว้ให้เกิดความก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย) ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของอาเซียน และจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆในอาเซียนต่อไป ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการเสริมสร้างการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าอาเซียนให้มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ ข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG)  แนวทางการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน จะช่วยกำหนดทิศทางและกิจกรรมที่ควรจะดำเนินการในอนาคต เพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation) ในด้านการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายและตลาดการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในอาเซียน

ส่วนในด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดนั้น อาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนให้ถึง 23% ในปี 2568 และการปรับมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ในส่วนของอนาคตทางด้านพลังงานนั้น อาเซียนจะมุ่งเน้นพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนโดยระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ การผลิตพลังงานในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า และการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสมัยใหม่โดยมีพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก จึงไม่เพียงแต่เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความเป็นอยู่และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“แนวคิดหลักของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 หรือ 37th AMEM ใน ปีนี้ คือ “Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” ซึ่งหมายถึง การมุ่งเน้นความร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงานอาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เข้าสู่ยุคพลังงานที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่มีความยั่งยืนในอนาคตจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า บรรยากาศการเข้าร่วมงานเป็นไปอย่างคักคัก โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆและผู้ประกอบการจากประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 600 คน ซึ่งประเทศไทยได้จัดระบบดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีกองบัญชาการตำรวจสันติบาลดูแลความปลอดภัยตลอดงานและตรวจสอบสัมภาระผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียด เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย

สำหรับความร่วมมือที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผลักดันให้ขยายการเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ(ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย) ให้มากขึ้นจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามระหว่างกันในปี 2562 นี้ ผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 23% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอาเซียนใช้พลังงานทดแทนรวมอยู่ที่ 14% ซึ่งอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และ ผลักดันให้มีการตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานอย่างมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนตั้งเป้าหมายจะลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 20% ในปี 2563 แต่ปัจจุบันอาเซียนได้บรรลุผลสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี 2560 ที่ 21.7% ดังนั้นจะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ให้สูงและท้าทายมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับการประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย. 2562  ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมี10 ประเทศ สมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ประกอบด้วย อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ ไทย

บรูไนดารุส-ซาลาม   เวียดนาม   ลาว   เมียนมาร์  และกัมพูชา และจะมี 8 ประเทศนอกสมาชิกอาเซียนร่วมสังเกตการณ์ด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

โดยวันที่ 4-5 ก.ย. 2562 จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ทั้งนี้จะมีการจัดงาน ASEAN Energy Business Forum (AEBF) ระหว่าง 2-5 ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการและงานแสดงเทคโนโลยี คู่ขนานกับการจัดประชุม AMEM   และในวันที่ 4 ก.ย. 2562 ในช่วงค่ำจะมีพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้มีการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ถ่านหินสะอาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

Advertisment