เปิดงบประมาณปี 65 กระทรวงพลังงาน ได้งบเพิ่มขึ้น 438 ล้านบาท ใช้สู้คดีระหว่างประเทศในกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับเชฟรอน กรณีภาระค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและใช้ชดเชยส่วนต่างราคาซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ สำนักงบประมาณของรัฐสภา ( Parliamentary Budjet Office -PBO ) ห่วงสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส และตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน สะท้อนต้นทุนจม (sunk cost )ที่จะถูกผลักให้เป็นภาระค่าไฟฟ้ากับผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในเอกสารรายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณของรัฐสภา ( Parliamentary Budjet Office -PBO ) ภายใต้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของกระทรวงพลังงาน มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด แต่จัดเก็บรายได้ให้รัฐเป็นอันดับสอง
ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2564 กระทรวงพลังงาน เป็นส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด ในบรรดากระทรวงที่มีอยู่ทั้งหมด 20 กระทรวง คือเฉลี่ย 2,000-2,300 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 0.1%ของงบประมาณทั้งหมด
ปีงบประมาณ2565 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.64-30 ก.ย.65 นั้นได้รับการจัดสรร 2,717 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี64 ที่ได้รับการจัดสรร 2,279 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 438 ล้านบาท แต่งบดังกล่าว ทั้งกระทรวงยังน้อยกว่า งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพียงกรมเดียวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับจัดสรร 2,879 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานกลับเป็นกระทรวงที่จัดเก็บรายได้ในระบบงบประมาณให้แก่รัฐ เป็นอันดับสอง รองจากกระทรวงการคลัง ซึ่งในปี 65 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 46,768 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าภาคหลวงและสัมปทานปิโตรเลียม
มีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ในกำกับช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐและลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน
นอกจากนี้เมื่อรวมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลที่ไม่ได้มีการขอรับจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทั้ง 2 หน่วยงาน ก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ส่งเงินให้รัฐมากที่สุด เป็นอันดับ 2 และ 3 ของประเทศ โดยในปี 63 ปตท.นำส่งรายได้ให้รัฐ จำนวน 29,375 ล้านบาท และ กฟผ.นำส่งรายได้ อีกจำนวน 22,948 ล้านบาท (อันดับ1 คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)
บทบาทของทั้ง กฟผ.และ ปตท.ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการพลังงานของรัฐ โดยข้อมูลปี 64 กฟผ.มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 16,037 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งประเทศ 46,095 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34.79%ในปี 63 สินทรัพย์ของ กฟผ. มีประมาณ 877,020 ล้านบาท
ในขณะที่ ปตท.ที่มีการประกอบธุรกิจปิโตรเลียมแบบครบวงจร ผ่านบริษัทย่อยในเครือ ปี 63 มีสินทรัพย์รวม 2.54 ล้านล้านบาท หรือ 15%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP
ได้งบประมาณเพิ่มเพราะมี 2 เรื่องสำคัญที่ต้องจัดการ
PBO มองว่า ในสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี64 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการลดทอนรายจ่ายหน่วยงานกระทรวงต่างๆลงอย่างมากที่เรียกว่า big budjet cuts แต่งบของกระทรวงพลังงานได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น จากปี 64 ที่ได้รับ 2,279 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 2,717 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19% โดยมี 2 กรมที่ได้งบเพิ่ม คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้งบเพิ่ม จาก 119 ล้านบาทเป็น 359 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 80% เพราะมีประเด็นที่ต้องนำไปใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ วงเงิน 185 ล้านบาท จากการที่ เชฟรอน คอร์ปอร์เรชั่น ยื่นฟ้องรัฐไทยในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ส่วนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานหรือ พพ.นั้น ได้รับงบเพิ่มขึ้นจาก 1,119 ล้านบาท เป็น 1,542 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37 % แต่เป็นงบที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ให้กับ กฟผ.วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท
งบประมาณของกระทรวงพลังงานส่วนใหญ่ เป็นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจ ส่วนงบลงทุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เป็นบทบาทของ กฟผ.และปตท.
สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานไม่ผ่านเกณฑ์ ITA
อย่างไรก็ตามในการประเมินค่า ITA (Integrity and Transparency Assessment ) หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ในส่วนกระทรวงพลังงาน ระหว่างปีงบประมาณ 62-63 ปรากฏว่า มี 4 หน่วยงานที่สอบผ่านได้ผลประเมิน ระดับ A คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กฟผ. ปตท.และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอีก 4 หน่วยงาน ได้ระดับ B ซึ่งถือว่าไม่ผ่าน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานที่ควรจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง
โดยเฉพาะสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานที่ทาง
PBO มองว่าเป็นหน่วยงานกลางของกระทรวง ที่น่าจะเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานในสังกัดในเรื่อง คุณธรรมและความโปร่งใส แต่กลับมีผลประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ และแนะนำให้ไปเรียนรู้แนวปฏิบัติจาก สนพ.ที่ได้คะแนนสูงมากถึง 93.03 คะแนน เมื่อเทียบกับหน่วยงานระดับกรมที่มีอยู่ทั้งหมด 146 แห่ง
ห่วงสำรองไฟฟ้าระดับสูงกระทบค่าไฟประชาชน
นอกจากนี้ PBO ยังแสดงความกังวล ต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด- 19 ในปี64 ทำให้มีการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำ ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับสูง โดยปี 62 ไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้า 32% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 15% ของกำลังผลิตติดตั้ง หมายถึงการลงทุนที่มากเกินไป (over invesment) หรือมีต้นทุนจม (sunk cost) จนกระทั่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตจะผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาไฟฟ้ามีราคาสูงเกินกว่าปกติ ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และปัญหานี้อาจมีความต่อเนื่องต่อไปอีก เพราะระหว่างปี 2565-2566 มีแนวโน้มที่อัตราการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวได้ไม่มากตามสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19