เปิดความคืบหน้าศูนย์นวัตกรรมแปรรูปวัสดุรีไซเคิลทุน บพข. สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มรายได้ชุมชน

38
- Advertisment-

ความคืบหน้าผลสำเร็จของ “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” (MRF) แห่งแรกของไทยที่ดำเนินการโดยชุมชน ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการต่อตั้งจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งภายหลังจากที่เปิดทำการได้ 1 ปี พบว่า สามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้เสริมให้คนในชุมชน อีกทั้งยังช่วยสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะในชุมชน และลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

“ขยะ” ซึ่งรวมถึงพลาสติกใช้แล้วเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง สำหรับหลายชุมชน รวมถึงในพื้นที่ อ. บ้านฉาง จ. ระยอง ซึ่งเป็นเมืองลูกผสม คือ เป็นทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมและมีพื้นที่การเกษตรรวมอยู่ด้วยกัน ขณะที่เมืองก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” (Material Recovery Facility – MRF) ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดย ศูนย์ MRF แห่งนี้ เป็นโมเดลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย

ในการก่อตั้งศูนย์ดังกล่าว หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในฐานะองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับ กองทุน Dow Business Impact Fund โดย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในการจัดตั้งศูนย์ MRF ดังกล่าว รวม 20 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับความร่วมมือจาก สถาบันพลาสติก หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกในชุมชน อีกด้วย

- Advertisment -

ศูนย์ MRF แห่งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2566 และเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี 2567 มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยตั้งเป้าหมายจัดการขยะที่จะเป็นภาระในการกำจัดสู่หลุมฝังกลบ ปีละกว่า 1,000 ตัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่า 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และมีแผนที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงเดือนตุลาคม 2567 มีการจ้างงานคนในชุมชนแล้ว 6 อัตรา มีสมาชิกศูนย์แล้วกว่า 500 คน สร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เป็นสมาชิกแล้วกว่า 100,000 บาท

สำหรับกระบวนการดำเนินงานของศูนย์ MRF นั้น จะเริ่มจากการนำวัสดุรีไซเคิลมาเข้าสู่การคัดแยกโดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยตลอดกระบวนการ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลแต่ละประเภท โดยเฉพาะพลาสติก เครื่องเรียงขวดกึ่งอัตโนมัติเพื่อคัดแยกวัสดุรีไซเคิลประเภทขวดและกระป๋องโลหะ ตู้อัจฉริยะรวบรวมวัสดุเพื่อนำไปรีไซเคิล และเครื่องซักล้างถุงพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเมื่อคัดแยกประเภทอย่างมีคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการส่งต่อให้กับธุรกิจโรงงานรีไซเคิลต่อไป

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “บพข. ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ MRF โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการดำเนินการ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ให้ได้มากและนานที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจของชุมชน ผ่านความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แบบครบวงจรอีกด้วย”

นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง

นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้คนในชุมชนมีความตระหนักว่าขยะมีมูลค่า สามารถขายได้ จึงมีการช่วยกันคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อพฤติกรรมการทิ้งขยะเปลี่ยนไป ขยะในพื้นที่ก็ลดน้อยลง ทำให้สามารถนำวัสดุเหลือใช้ไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งนอกจากมีรายได้จากการคัดแยกขยะ ในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะมีรายได้จากการเยี่ยมชมศูนย์โดยคณะต่าง ๆ เช่น ค่าวิทยากรและค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะสามารถเป็นโครงการต้นแบบขยายสู่พื้นที่อื่นๆ หรือระดับประเทศได้”

โดยสรุปแล้ว งบประมาณสนับสนุนจากกองทุน บพข. ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาขยะในชุมชนบ้านฉางอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม คือ ส่งเสริมให้คนในชุมชนคัดแยกขยะจากครัวเรือน ช่วยลดปริมาณขยะ และเกิดการรวมกลุ่มของคนที่ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้านเศรษฐกิจ คือ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกชุมชนจากการซื้อขายขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และ เกิดการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

Advertisment