ถอดรหัสโรงไฟฟ้า Zabalgarbi สเปน มุมมองใหม่การจัดการขยะ

2959
sdr
- Advertisment-

ในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าโรงไฟฟ้าขยะในมุมมองของคนทั่วไปนั้น ยังมีภาพลักษณ์ที่ติดลบ ไม่มีใครอยากจะให้มีโรงไฟฟ้าลักษณะนี้มาตั้งอยู่ใกล้ชุมชน หรืออยู่ในจังหวัดของตัวเอง เพราะกลัวส่งกลิ่นเหม็น กลัวก่อมลภาวะทางอากาศ  กลัวกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตที่ปกติ   แต่คนที่เมืองบิลเบา  แคว้นบาส์ก ประเทศสเปน ปรับเปลี่ยนความกลัวด้วยกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยข้อเท็จจริงและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังจากภาครัฐ  หันมาสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง จนสามารถแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อ20ปีที่แล้วได้สำเร็จ โดยโรงไฟฟ้าขยะZabalgarbi Waste-to-Energy ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี2548 ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการจัดการนั้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC ) มีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับคณะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำโดย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.และสื่อมวลชนจากประเทศไทยอีกหลายสำนัก   มาดูงานโรงไฟฟ้าZabalgarbi Waste-to-Energy แห่งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากรับฟังการบรรยายถึงรายละเอียดการบริหารจัดการขยะของเมืองบิลเบา
และเดินดูกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้า ก็เห็นว่า ความน่าสนใจ ของการบริหารจัดการขยะแห่งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วิสัยทัศน์ของการเลือกจัดการขยะด้วยวิธีการนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แทนการฝังกลบ ที่สร้างปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม  การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับประชาชนในการคัดแยกขยะ ด้วยโทษปรับตั้งแต่เบาไปหาหนัก  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ประจักษ์ด้วยสายตา ก็คือเมืองบิลเบา นั้นมีความสะอาด  โรงไฟฟ้าขยะอยู่ร่วมกันได้กับชุมชนไม่ส่งกลิ่นเหม็นหรือฝุ่นควันไปรบกวนชุมชน  ในขณะที่ชุมชนมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่ลดลงและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

- Advertisment -
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าZabalgarbi บรรยายให้ ผู้ว่ากฟผ.และคณะดูงานรับทราบในรายละเอียดของโรงไฟฟ้า

ผู้แทนของ Zabalgarbi บอกกับคณะดูงานว่า 20ปีที่แล้วก่อนที่จะมีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ อากาศที่ บิลเบา  นั้นขมุกขมัว เพราะขยะล้นเมือง เกิดการเผาขยะทิ้งแบบผิดวิธี แต่หลังจากที่มีโรงไฟฟ้า จนถึงปัจจุบันนี้ บิลเบาเป็นเมืองที่มีอากาศแจ่มใส เพราะขยะถูกนำมาคัดแยกนำส่วนที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เช่นโลหะ พลาสติก กลับไปรีไซเคิล และส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็นำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า  ส่งกระแสไฟฟ้าป้อนกลับไปใช้ในเมือง ส่วนขี้เถ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิต ก็นำไปผสมทำถนน

กระบวนการบริหารจัดการขยะ ของเมืองบิลเบา นั้น เริ่มต้นจากการออกกฎระเบียบ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในการคัดแยกขยะ  โดยรัฐ มีการจัดวางถังเก็บขยะ7ใบ7สีแยกตามประเภท เอาไว้ใกล้ๆกับชุมชน  ขยะที่ถูกจัดแบ่งเป็น7ประเภท นั้น ประกอบด้วย 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะพลาสติก 3.กระดาษ 4.แก้ว 5.เสื้อผ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6.น้ำมันจากครัวเรือน และ 7 ขยะทั่วไป

ถังขยะ7สีสำหรับคัดแยกขยะ7ประเภท

ประชาชนที่ทิ้งขยะผิดประเภทลงถัง จะต้องจ่ายค่าปรับตั้งแต่ค่าปรับน้อยๆ ไม่กี่ยูโร ไปจนเสียค่าปรับสูงๆถึง1,000ยูโร

ขยะในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล หมุนเวียนไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้  จะถูกนำมารวมกันและขนส่งมายังโรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Energy ที่รัฐถือหุ้นร้อยละ 35 และภาคเอกชนถือหุ้นอีกร้อยละ 65 ซึ่งมีพื้นที่รองกับปริมาณขยะที่ส่งเข้ามาต่อเนื่องได้นานถึง 15 วัน

Zabalgarbi Waste-to-Enegy เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ และก๊าซ ที่ส่งมาจากท่อส่งก๊าซ ของเมืองบิลเบา  มีกำลังผลิต 99.5 เมกะวัตต์ (กังหันก๊าซ 43 เมกะวัตต์ และกังหันไอน้ำ 56.5 เมกะวัตต์) มีประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 42% สามารถกำจัดขยะได้ 30 ตันต่อชั่วโมง การเผาไหม้ขยะใช้อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียส

ในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า จะเน้นส่วนที่เป็นขยะทั้ง 100% โดยไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซ จะใช้เพื่อเติมกำลังผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามข้อตกลง เท่านั้น เนื่องจากทางโรงไฟฟ้ามีข้อผูกพันกับรัฐบาลในการลดขยะเป็นหลัก

หนึ่งในกระบวนการผลิต นำขยะป้อนเตาเผา

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐประมาณ 13 ล้านยูโรต่อปี โดย  ต้องแสดงให้รัฐเห็นว่าพลังงานที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทนจริง ซึ่งรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการดำเนินงานทุกปี

ผลประกอบการใน ปี 2561 บริษัทมีผลกำไรก่อนหักภาษี 12 ล้านยูโร ซึ่งจะนำไปพัฒนาโครงการและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต่อไป

โรงไฟฟ้าZabalgarbiตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเมืองบิลเบา

ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า จะมีการใช้แอมโมเนียกำจัดไนโตรเจนออกไซด์ มีระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ระบบกำจัดโลหะหนักแบบ Activated Carbon Injection สำหรับฝุ่นมีระบบ Bag Filter ประสิทธิภาพสูง อีกทั้งมีสถานีตรวจวัดอากาศ 3แห่ง มีการตรวจวัดการปนเปื้อนในดินและพืช ในน้ำ และมีสถานีตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยาเพื่อดูทิศทางของลม

วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ.(คนยืนกลาง)

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. เปิดเผยภายหลังการดูงาน ว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ PDP 2018 นั้นมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะจำนวน400เมกะวัตต์  ประสบการณ์จากการดูงานโรงไฟฟ้า Zabalgarbi นั้นแสดงให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้น มีส่วนสำคัญในการลดปริมาณขยะ และยังได้ไฟฟ้า แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองที่มีขยะล้นเมืองและยังอยู่ร่วมกับชุมชนได้   แต่ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย นอกเหนือจากความเข้าใจและการยอมรับของประชาชนแล้ว  ยังมีประเด็นเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงขยะ ที่เอกชนผู้ลงทุน ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของขยะ ไม่สามารถจัดหาหรือรวบรวมขยะให้ได้เพียงพอกับกำลังการผลิต  ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

  ทั้งนี้ ในภาพรวมยังมีปริมาณขยะทั้งที่สะสมและเกิดใหม่อยู่มากแต่ขยะส่วนหนึ่งถูกนำไปฝังหรือไม่ถูกกำจัดด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า   ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันหาทางออก

Advertisment