เตรียมนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนเปียร์ 300เมกะวัตต์ ภายในปี2565

5967
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานดันโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ใส่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือ AEDP2018ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 จำนวน1,500เมกะวัตต์ โดยเดินหน้านำร่องก่อนภายในปี2565 จำนวน 300เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือแผน AEDP2018 ที่มีการปรับปรุงใหม่ ได้กลับมาบรรจุโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ เอาไว้ในส่วนของไฟฟ้าที่มาจากก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) ตลอดทั้งแผนจำนวนรวม 1,500เมกะวัตต์ จากที่แผนAEDP2018ซึ่งจัดทำในสมัยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ไม่ได้บรรจุการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์เอาไว้เลย   โดยภายในปี2565จะมีการเดินหน้านำร่องได้ก่อนจำนวน 300 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกล่าวว่า  โครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ จะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ที่มีเป้าหมายให้โรงไฟฟ้าชุมชนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

- Advertisment -

ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ ได้มีการหารือกับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหา อุปสรรคและแนวทางการนำหญ้าเนเปียร์กลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง หลังจากยุติไปตั้งแต่ปี 2557 นับตั้งแต่ที่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศ

สำหรับ อุปสรรคที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ เกิดจากการสร้างโรงไฟฟ้าไม่สามารถตั้งกระจายได้หลายพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ เป็นการนำหญ้าเนเปียร์มาหมักผสมกับมูลสัตว์ให้เกิดเป็นก๊าซชีวภาพ ก่อนนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ดังนั้นโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ใกล้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เป็นต้น  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC )รายงานว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์  เคยได้รับการส่งเสริมมาตั้งแต่ช่วงปี 2553-2555 ต่อมาช่วงปี 2556 สมัยที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 ก.ค.2556 ให้ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (ปี 2555-2564) เพื่อเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุด 3,000 เมกะวัตต์ เป็นการปรับเพิ่มจากพืชพลังงานโดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ และนำไปสู่การจัดตั้งต้นแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เพื่อขยายผลไปสู่เป้าหมาย

จากนั้น ช่วงปี 2557 รัฐได้ยุติโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์จำนวน 10 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเดินหน้าโครงการจะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ และไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้   ซึ่งบางโครงการจะได้รับการพิจารณาให้ร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick win ที่กำลังมีการร่างระเบียบหลักเกณฑ์ออกมาภายในเดือนพ.ย.2562นี้

Advertisment