เตรียมออกนโยบายรูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริด รับมือผลกระทบ disruptive technologyในอนาคต

1783
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เตรียมเสนอร่างรูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริดให้รัฐมนตรีพลังงานพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย หวังรองรับการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของ disruptive technology การที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟเอง (Prosumer) และ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนด้วยกัน (peer to peer)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างรูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริดว่า สนพ.เตรียมสรุปข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นระบบธุรกิจไมโครกริดครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจไมโครกริดที่เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับรูปแบบการใช้และการผลิตไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งจากผลกระทบของ disruptive technology ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟเอง (Prosumer) และ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนด้วยกัน (peer to peer)

โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่จะซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันภายใต้โครงข่ายเล็ก (ไมโครกริด) และหากหลุดออกไปจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก จะมีผลกระทบอย่างไรและทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) จะต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร

- Advertisment -

สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะสั้น ปี2559-2564 กำหนดให้กระทรวงพลังงานจะดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ1. มาตรการความร่วมมือลดใช้พลังงาน (Demand Response) 2.ระบบพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน(RE) 3.ระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) และผลักดันไปสู่การใช้สมาร์ทกริดเชิงพาณิชย์ในปี 2564

นายศุภสิทธิ์ อัมราลิขิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท Full Advantage ในฐานะที่ปรึกษาโครงการร่างรูปแบบธุรกิจระบบไมโครกริด กล่าวว่า ได้นำเสนอการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการ  Smart Microgrid & SEN Structure/Business Model ซึ่งเป็นการออกแบบวงจรซื้อขายไฟฟ้าแบบแยกวงจรออกมาเป็นอิสระ ในหลายรูปแบบ เพื่อรองรับ Disruptive Technology ได้ และต้องการให้มีความมั่นคงด้านพลังงานสูง โดยสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าหลักได้กรณีที่จำเป็น อีกทั้งรูปแบบธุรกิจนี้ ยังสามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV),สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging  และระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) ได้

โดยโครงสร้างหลักประกอบด้วย 5 ส่วนคือ 1. ผู้จำหน่ายปลีกไฟฟ้า หรือ ซื้อมาขายไป 2.ผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า 3.ผู้บริหารจัดการสมดุลไฟฟ้า 4.การให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วมในมาตรการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 5.การพัฒนาระบบเสริมความมั่นคงไมโครกริด โดยสามารถขอความช่วยเหลือซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าหลักได้กรณีจำเป็น

สำหรับในส่วนของการซื้อขายไฟฟ้ากันเอง (Peer-to-Peer) ในระบบนี้ นอกจากจะต้องจ่ายค่าเนื้อไฟฟ้าแล้ว ยังจะต้องมีค่าบริการสายส่ง (wheeling charge) และค่าบริหารจัดการสมดุล (Balancing service) ส่วนผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเก็บค่าบริการดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบในอนาคต

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาด้านไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า(ปั๊มชาร์จไฟฟ้า) ที่ต้องใช้ไฟฟ้าถึง 2 เมกะวัตต์ต่อจุดชาร์จ โดยหากมีการตั้งถึง 10 จุดจะส่งผลให้เกิดความต้องการไฟฟ้าถึง 20 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตเมื่อไทยเกิดการใช้รถ EV แพร่หลาย อาจมีการตั้งปั๊มชาร์จตลอดระยะการเดินทาง เช่น จากกรุงเทพฯไปนครสวรรค์ ระยะ 400 กิโลเมตร อาจมีปั๊มชาร์จหลายแห่ง ซึ่งหากภาครัฐไม่เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้

สำหรับในส่วนของระบบไมโครกริดนั้น เชื่อว่าปัจจัยหนุนที่ก่อให้เกิดระบบดังกล่าวคือ ค่าไฟฟ้าถูกลงและอาจถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มเหลือน้อยลง และในอนาคตจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีราคาแพงในอนาคต ดังนั้นการซื้อไฟฟ้าจากการผลิตและซื้อขายกันเองโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะถูกและคุ้มค่ามากกว่า

นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า  Disruptive Technology ส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ และธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีระบบไฟฟ้าที่เสถียรสำหรับให้บริการแก่ลูกค้า ดังนั้นบริษัทด้านธุรกิจโทรคมนาคมเกือบทุกแห่งจึงมีระบบผลิตไฟฟ้าสำรองขนาดเล็กไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ซึ่งช่วยให้ระบบโทรคมนาคมไม่ขัดข้องตามไปด้วย  อย่างไรก็ตามเห็นว่าในอนาคตเป็นโอกาสที่ดีหากพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก(เจนเนอเรเตอร์) ให้สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเองได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการมีไฟฟ้าใช้อย่างเสถียร

นายเกษม นิลเจริญ กรรมการเทคนิคจัดทำมาตรฐานดาตาเซนเตอร์ วสท. กล่าวว่า  นักลงทุนจากประเทศจีนมองเห็นว่าประเทศไทยมีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติสูง จึงต้องการเข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูล(Data Center)ในไทย แต่ต้องใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำ 50-100 เมกะวัตต์ และนักลงทุนพร้อมจ่ายค่าไฟฟ้าสำรอง ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมด้านไฟฟ้ารองรับนักลงทุนต่างประเทศกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นายรวมลาภ อนันตศานต์​ ผู้แทนสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย กล่าวว่า  โอกาสเกิดระบบธุรกิจไมโครกริดในไทยมีความเป็นไปได้ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีสูงขึ้น ทั้งในด้านนิคมอุตสาหกรรมและความจำเป็นของหน่วยงานสำคัญเช่น โรงพยาบาล สนามบิน เป็นต้น และหากไมโครกริดช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง ในอนาคตจะเกิดการรวมตัวกันของผู้ใช้และผลิตไฟฟ้าจากโคเจเนอเรเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้

Advertisment