เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ระบบไพโรไลซิส 9.6 MW ที่อุดรธานี หวัง COD ปี 65

4134
- Advertisment-

เมโทร เอนเนอร์ยี่ จับมือ จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 9.6 เมกะวัตต์ กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จขายไฟฟ้าให้ กฟภ. ในปี 2565

วันนี้ (21 กันยายน 2564) บริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าขยะอุดรธานีไพโรไลซิสออยล์ (UWTE Power Plant) โดยนายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริหารได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Technology for 9.6 MW. Municipal Waste Power Plant) ในพื้นที่เทศบาลจังหวัดอุดรธานี กับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด ที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยมีนายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้แทนลงนาม ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมเพลย์กราวด์ (Playground Innovation) ลำลูกกาคลองสี่ ปทุมธานี

โดย นายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่า 710 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการเฟสแรกมาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และกำจัดขยะสด ซึ่งในวันนี้ได้ลงนามก่อสร้างกับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยจะนำพลาสติกที่ได้จากการคัดแยกขยะไปเผาให้ได้น้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

- Advertisment -

ซึ่งเริ่มก่อสร้างโครงการไปแล้วบางส่วน มีกำหนดแล้วเสร็จและขายไฟเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเดือนสิงหาคม 2565 คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ในระยะ 5-7 ปี

โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้าง

โครงการดังกล่าวได้ผ่านประชาพิจารณ์จากชุมชนเมืองอุดรธานีในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยและให้นำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว
ซึ่งด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ถือได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่แก้ปัญหาขยะในเมืองอุดรธานีได้ 300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 109,500 ตันต่อปี

“การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในระดับเทศบาลจนถึงระดับจังหวัด ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโนโลยีไพโรไลซิส มาเป็นหัวใจหลักของกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก เพื่อป้อนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าขนาด 9.6 เมกะวัตต์ติดตั้ง และจะขายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 8 เมกะวัตต์ ตามสัญญาในสิ้นปี 2565 แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อัตราค่าไฟอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 25 ปี”

ที่ผ่านมาบริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด ได้ทำการศึกษาในเชิงลึกถึงแนวทางการใช้ขยะมูลฝอยของเทศบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และต้องได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนด้วยนั้น ซึ่งการให้ทาง จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านการจัดการของเสียแบบสะอาดครบวงจรหรือเรียกว่า โรงไฟฟ้าขยะเทคโนโลยีไพโรไลซิส มาดำเนินการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าที่ขนาด 9.6 เมกะวัตต์ จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ด้านนายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทยืนยันว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสที่ จ.อุดรธานี สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ และจะเปิดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 อย่างแน่นอน

โดยข้อดีของเทคโนโลยีไพโรไลซิส คือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยการใช้เตาเผาที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดไม่ก่อมลพิษ ที่น่าจะมีการพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกไกลในอนาคตเป็นอีกทางเลือกของการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวิธีกำจัดขยะไม่ถูกต้อง จนทำให้ติด 1 ใน 6 ประเทศในโลกที่มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส จึงเป็นการตอบโจทย์ประเทศในการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย กรณีบริษัทส่งออกสินค้าไปยุโรปมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สร้างภาวะโลกร้อน รวมถึงบริษัท SMEs ในประเทศไทยก็น่าห่วงหากยังไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้

ในส่วนแผนพลังงานแห่งชาติ (Energy Plan) มีการกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ซึ่งถือว่าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ก็เป็นการดำเนินการตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่กำลังจะบังคับใช้

ดร.จุติณัฏฐ์ ลิมปนันท์วดี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดอุดรธานีก็อยู่ในแผน Quick win ที่มีการลงนามก่อสร้างเมื่อปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2564 แต่ติดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 ไม่สามารถลงพื้นที่ได้จึงได้มีการขยายเวลาโครงการออกไปเป็นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2565

ซึ่งขณะนี้ กฟภ. มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะแล้ว 35 โครงการ จำนวน 151 เมกะวัตต์​ จากทั้งหมด 45 โครงการ จำนวน 217 เมกะวัตต์

Advertisment