เชฟรอน -ปตท.สผ. ผ่านฉลุยคุณสมบัติ และเทคนิค รอลุ้นผลซองสุดท้ายตัดสิน เอราวัณ บงกช

1156
- Advertisment-

คณะกรรมการปิโตรเลียม ไฟเขียว 3 ซองประมูลบงกชและเอราวัณ เชฟรอน ปตท.สผ.ผ่านเกณฑ์ ทั้งด้านคุณสมบัติ เทคนิค และหลักการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ในขณะที่การเปิดซองที่ 4 เกี่ยวกับข้อเสนอด้านราคาก๊าซและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ คาดใช้เวลาพิจารณา 2 สัปดาห์ มั่นใจเสนอผลชนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทันในเดือนธ.ค. 2561 นี้

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดซองประมูลขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช)ว่า คณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้เห็นชอบผลการเปิดซองประมูลซองที่ 1-3 ของทั้งผู้ร่วมประมูลทั้ง 2 ราย ของทั้งแปลงเอราวัณและบงกช โดยซองที่ 1 เป็นซองด้านคุณสมบัติของผู้ประมูล, ซองที่ 2 เป็นข้อเสนอหลักการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนและซองที่ 3 ซองด้านเทคนิค แล้ว

โดยในวันที่ 8 พ.ย. 2561นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้เปิดซองประมูลสุดท้ายคือซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาขายก๊าซธรรมชาติและอัตราส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไร สัดส่วนการจ้างพนักงานไทยและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐอื่นๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการลงนามกำกับเอกสารทุกหน้า จากนั้นจะส่งมอบให้ คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ประมวลผลข้อเสนอในการพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อเสนอทางเทคนิค ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และการมีสมมติฐานที่สมเหตุผล คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อหาผู้ที่ควรได้รับคัดเลือก และส่งผลพิจารณาเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการปิโตรเลียม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนธ.ค. 2561 นี้

- Advertisment -

สำหรับข้อเสนอในซองที่ 2 ที่ให้เสนอหลักการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน 25% นั้น ภาครัฐไม่ได้กำหนดให้ผู้ประมูลเสนอรายชื่อภาครัฐเข้ามา โดยรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้หน่วยงานรัฐใดเป็นผู้เข้าไปร่วมลงทุน แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง เนื่องจากมูลค่าลงทุนของแหล่งเอราวัณและบงกชรวมเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งหน่วยงานรัฐที่จะเข้าไปลงทุนอาจเป็นได้ทั้งในหลายรูปแบบ เช่น เงินทุน เงินกู้ หุ้น เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับบริษัทที่ร่วมประมูลโดยยื่นเสนอทั้ง 4 ซอง แบ่งเป็น ในแหล่งเอราวัณ 2 คำขอ คือ คำขอที่ 1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) สัดส่วนลงทุน 60% ร่วมกับบริษัท MP G2 (Thailand)Limited (บริษัท เอ็มพี จี2(ประเทศไทย) จำกัด) สัดส่วนถือหุ้น 40% และคำขอที่  2.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd.(บริษัท เชฟรอน ไทยแลนยด์ โฮลดิ้ง จำกัด) สัดส่วนลงทุน 76% ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd.(บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด) สัดส่วนลงทุน 24%

ส่วนในแหล่งบงกช 2 คำขอ ได้แก่ คำขอที่ 1.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ลงทุนรายเดียว 100% ส่วนคำขอที่2 คือ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd.(บริษัท เชฟรอน ไทยแลนยด์ โฮลดิ้ง จำกัด) สัดส่วนลงทุน 76% ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd.(บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด) สัดส่วนลงทุน 24%

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินว่า การประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชครั้งนี้ คาดว่าการพัฒนา 2 แหล่งดังกล่าวจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 8 แสนล้านบาท รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรกและอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ในเงื่อนไขประมูล(TOR) นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(LPG)ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท

Advertisment