ไฮไลท์ 3 กิจกรรมเพื่อสังคมของเชฟรอน ใน สงขลา ด้วย ยางพาราคาร์บอนต่ำ การศึกษาดาราศาสตร์ครบวงจร และการอนุรักษ์เมืองเก่า ฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 7-8 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นางสาว พรสุรีย์ กอนันทา หรือ คุณแป้ง นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและมีประชากรมากเป็นอันดับสองของภาคใต้
สงขลา นั้นเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอน บริษัทที่ทำธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับโลก ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยและผูกพันใกล้ชิดกับชาวสงขลามายาวนานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยสงขลานั้นเป็นทั้งสถานที่ตั้งศูนย์ฝึกอบรมพนักงานและจุดขนส่งอุปกรณ์และพนักงานออกไปทำงานที่แท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ทั้งทางเรือและทางอากาศ
เสริมศักยภาพเกษตรกรสวนยางพารา สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กิจกรรมเพื่อสังคมที่ทาง คุณแป้งและคณะ นำเยี่ยมชม ในวันแรกของการเดินทางคือ ที่ สหกรณ์ยูงทอง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรชาวสวนยางพารา เดิมนั้นใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตยางแผ่นรมควัน ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งแผ่นยางไม่ได้คุณภาพ กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เป็นไปตามเทรนด์โลก รวมทั้งส่งกลิ่นเหม็นและปล่อยน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์
เชฟรอน ได้เข้ามาช่วยกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่องก่อนที่สหกรณ์บ้านทรายขาว และ ที่สหกรณ์ยูงทอง ที่พาคณะสื่อมาเยี่ยมชม โดยทำโครงการเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ แล้วใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน ส่วนไฟฟ้าก็ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย สอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG
ศาสตราจารย์ ดร. สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งบรรยายให้กับคณะสื่อมวลชนที่เข้าเยี่ยมชม บอกว่าทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว โดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนมั่นใจว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้นั้นเหมาะสมกับวิถีการดำรงอยู่ของวิสาหกิจชุมชนยางพารา ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการที่ทำนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละสหกรณ์ ได้ถึง 425 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 31 และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ช่วยลดการใช้ฟืน ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯ ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี
ปัจจุบัน สหกรณ์ยูงทอง หวังให้เป็นต้นแบบกับสหกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่และต่อยอดสู่ การลดการปล่อยคาร์บอน ที่ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) รวมทั้งดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ส่งเสริมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจร
กิจกรรมเพื่อสังคมจุดที่สอง คุณแป้ง นำคณะสื่อมวลชน ไปชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (หอดูดาวสงขลา) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 หอดูดาวภูมิภาค ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นโครงการในพระราชดำริ เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กระจายไปสู่แต่ละภูมิภาค ให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้สามารถสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับสถาบันการศึกษาภาคใต้ และนานาชาติ รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์อิสลามแห่งแรกของไทย
หอดูดาวแห่งนี้ ทาง เชฟรอนได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาสถานที่ ตลอดจนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 รวมงบประมาณสนับสนุนกว่า 30 ล้านบาท โดยดาราศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในการศึกษาด้านสะเต็ม (STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics)
เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้จัดการหอดูดาวภูมิภาคอาวุโส หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา เล่าให้คณะสื่อมวลชนฟังว่า หอดูดาวสงขลาแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้ โดยเยาวชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อย่างสนุกสนาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะดาราศาตร์เป็นพื้นฐาน องค์ความรู้ ‘เหตุและผล’ ที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในสาขาอื่นที่หลากหลายได้
หอดูดาวแห่งนี้ ยังมีฉายาอีกชื่อหนึ่งคือ ‘หอดูดาวสองทะเล’ ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขารูปช้าง ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของทั้งทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย รวมถึงทัศนีย์ภาพของเมืองสงขลาได้ชัดเจน ซึ่งคณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสเดินขึ้นเขาไปสักการะเจดีย์เขารูปช้าง ที่มีเสียงเล่าลือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ใครอธิษฐานขออะไรก็มักจะสมหวังด้วย
ร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจ “เมืองเก่าสงขลา” ด้วยการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
เช้าวันที่ 8 มิถุนายน คณะสื่อมวลชน มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมเพื่อสังคม ที่“เมืองเก่าสงขลา” เมืองเก่าแห่งนี้เป็นแหล่งชุมชนพหุวัฒนธรรม ผสมผสานทั้งพุทธ มุสลิม และจีน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนคนสงขลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกภาคีเครือข่ายจึงต่างร่วมมือกันพลิกฟื้นย่านเมืองเก่าและดำเนินกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ โดยเชฟรอนได้ร่วมสนับสนุนภารกิจการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเมืองเก่าผ่านโครงการมากมาย อาทิ สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า “คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า การจัดทำป้ายสื่อความหมายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว และสนับสนุนการจัดกิจกรรม “Music and Night at the Museum” ของทุกปี เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำคืน ตลอดจนร่วมพัฒนาสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่บรรจุในแผนการพัฒนาจังหวัดสงขลา 20 ปี
ดร.จเร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มก่อตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เล่าว่า “อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองเก่าสงขลา คือความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่มีความเป็นมายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านทั้งศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน ตลอดจนอาหารการกินซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่า สามารถต่อยอดด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไปในอนาคต โดยทางภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ผนึกกำลังกับ 30 องค์กร รวมถึงเชฟรอน ได้ร่วมจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อยกระดับเมืองเก่าสงขลาสู่การเป็นมรดกโลกซึ่งมีกรอบการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสอดรับกับเมืองมรดกโลก การพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค และงานทางด้านวิชาการ เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จ จะนำมาซึ่งโอกาสและรายได้ให้กับคนในชุมชน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนต่อไป”
คุณแป้ง พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เล่าโดยสรุปถึงการนำสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงมาเยี่ยมพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ครั้งนี้ว่า “เป้าหมายของเชฟรอนคือการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ทั้งธุรกิจของเรา สังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นทุกโครงการของบริษัท ไม่เพียงแต่โครงการในจังหวัดสงขลา จึงสะท้อนวัตถุประสงค์นี้ และตอกย้ำความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทย”
ทั้งนี้เชฟรอนนั้นมีกลยุทธ์ 4 ด้านในการทำโครงการเพื่อสังคม ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการศึกษา และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม