กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดรายชื่อ ผู้ยื่นประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (G1/2561) และ บงกช(G2/61) มีโอเปอเรเตอร์ 2รายที่แข่งขันกันในทั้ง 2แหล่ง คือ เชฟรอน และปตท.สผ. โดยคณะอนุกรรมการ ที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธาน จะเริ่มกระบวนการเปิดซองพิจารณา ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2561 นี้ และคาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผู้ชนะประมูลได้ ในเดือนธ.ค. 2561
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังการปิดรับซองประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ในเวลา 17.00 น.ของวันที่ 25 ก.ย. 2561 ว่า มีผู้ประกอบการที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นซองเอกสารทั้งหมด จำนวน 2ราย ในแต่ละแปลง โดย ในแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ(G1/2561) จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. ร่วมทุนกับ บริษัท MP G2 (Thailand) Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม โดย ปตท.สผ.ถือหุ้น 60% และ MP G2 ถือหุ้น 40%
2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมทุนกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. โดยบริษัทเชฟรอนฯ ถือหุ้น 74% และบริษัท มิตซุยออยล์ฯ ถือหุ้น 26%
ส่วนแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบงกช( G2/61) จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ถือหุ้น 100%
2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. โดยบริษัทเชฟรอนฯ ถือหุ้น 74% และบริษัท มิตซุยออยล์ฯ ถือหุ้น 26%
โดยผู้ประกอบการทั้ง2กลุ่ม ได้ยื่นเอกสารครบทั้ง 4 ซอง ได้แก่
ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย
ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน
ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
ซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาหลังจากนี้ ทาง คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อเสนอการประมูลจะเริ่มเปิด 3 ซองแรกของแต่ละรายตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป โดยหากผู้ประกอบการรายใดไม่ผ่านเกณฑ์ตามเงื่อนไข ที่กำหนด ก็ไม่ต้องพิจารณาซองที่ 4 ซึ่งเป็นซองข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐอีก
สำหรับในส่วนของข้อกำหนดที่ให้ผู้ประกอบการต้องเสนอสัดส่วนให้ภาครัฐเข้ามาร่วมทุนไม่เกินกว่า 25% นั้น ถูกกำหนดให้เสนอรวมอยู่ในซองที่ 2 แต่ทั้งนี้ภาครัฐ โดยคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเองว่าหน่วยงานรัฐ ใดที่เหมาะสมจะเข้าร่วมทุน ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งสามารถที่จะเสนอพิจารณาก่อนหรือหลัง จากที่รู้ผลผู้ชนะการประมูลก็ได้
ทั้งนี้ คาดว่าคณะอนุกรรมการฯจะนำเสนอเรื่อง เข้าสู่ การพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และเสนอรายชื่อผู้ชนะประมูลเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ในภายเดือน ธ.ค. 2561 นี้ โดยตามกำหนดการที่วางไว้ จะลงนามกับผู้ชนะประมูลได้ในเดือนก.พ. 2562 และมีเวลาเตรียมความพร้อมประมาณ 3 ปี
ซึ่งมั่นใจว่า ไม่ว่ารายใดจะเป็นผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเข้าไปกำกับดูแลให้การผลิตก๊าซของแต่ละแหล่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
โดยแปลง G1/2561 หรือในกลุ่มแหล่งเอราวัณนั้น จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย. 2565 ส่วน แปลง G2/2561 แหล่งบงกชเหนือหมดอายุสัมปทานในวันที่ 24 เม.ย. 2565และแหล่งบงกชใต้หมดอายุสัมปทานเดือนมี.ค. 2566 ซึ่งตามข้อกำหนดในเงื่อนไขการประมูล(TOR)จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชให้ได้ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วง 10 ปีแรกของสัญญา โดยสัญญามีอายุ 20 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี ทั้งนี้คาดว่าการประมูลในครั้งนี้จะก่อให้เกิดเงินลงทุนในไทย 1.2 ล้านล้านบาท
“ครั้งนี้มีผู้ประมูลเพียง 2 ราย ก็ถือว่าน้อยไปหน่อย แต่ก็เป็นไปตามที่คาดหวังไว้แต่แรกว่าจะต้องมีผู้ร่วมประมูลอย่างน้อย 2 ราย แต่รายใหม่คงเข้ามายาก โดยเฉพาะบริษัท โททาล ยังถอนตัว เพราะเงื่อนไขประมูลและศักยภาพก๊าซเรามีไม่มากที่จะจูงใจให้เขามาประมูล” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการที่ชนะประมูลผลิตก๊าซฯไม่ได้ตามปริมาณใน TOR ในช่วงรอยต่อการหมดสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมจะมีโทษปรับตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ และหากภายใน 90 วันยังผลิตก๊าซฯไม่ได้ตามสัญญาจะมีโทษปรับโดยริบเงินประกันคุณภาพการผลิตก๊าซฯ 3,000-5,000 ล้านบาท
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แสดงความเห็นหลังการเดินทางมายื่นซองเอกสาร ในวันที่ 25 ก.ย. 2561ว่า ข้อเสนอของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความรู้ความเข้าใจในสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนความสำเร็จในการทำหน้าที่จัดหาพลังงานให้กับประเทศได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
“เราภูมิใจที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้ และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าเชฟรอนคือพันธมิตรสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ที่ควรได้รับความไว้วางใจ ให้ทำหน้าที่ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณและบงกชเพื่อประโยชน์ของคนไทยสืบไป”นายไพโรจน์ กล่าว
ส่วน นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ. จะยื่นประมูลเอง โดยผู้ร่วมทุนรายเดิมคือโททาล ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลด้วย สำหรับแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว โดยมีแปลงสัมปทานที่อยู่ใกล้แหล่งเอราวัณ จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี
“เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้เรายื่นข้อเสนอในการประมูลที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว” นายสมพร กล่าว