เจาะลึก กลยุทธ์ Triple S ของ กฟผ. เพื่อคนไทย สู่สังคมไทยไร้คาร์บอนที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

2067
- Advertisment-

ภาวะโลกรวน คำคุ้นเคยที่ทุกคนได้ยินคุ้นหู เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศ ในปัจจุบันคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมาก อย่างเช่น การที่ฝนตกไม่ตรงฤดูกาล อากาศที่ร้อนมากกว่าปกติ จากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2019 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก และในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยนั้น สูงขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน  Heat Island Effect หรือ ปรากฎการณ์เกาะความร้อน Urban Heat Island อันเนื่องมาจากความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การเพิ่มมลพิษจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการพึ่งพาเชื้อเพลิง ที่ทำให้เขตชุมชนเมืองนั้น มีอุณหภูมิสูง และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต

เมื่อเกิดภาวะโลกรวน องค์กรต่างๆไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมีการตื่นตัว รวมถึง กฟผ. องค์กรหลักด้านพลังงาน ก็ได้ประกาศเป้าหมาย เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ พัฒนาปรับเปลี่ยนทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต รวมถึงประกาศกลยุทธ์ เพื่อการผลักดันองค์กรให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงสังคมในครั้งนี้

จากกลยุทธ์ขององค์กร สู่การเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อนโลกรวนได้อย่างไร

- Advertisment -

อีกบทบาทสำคัญของ กฟผ. ที่จะพัฒนาและผลักดันสังคมไทยให้ปลอดคาร์บอนนั้น คือ การตั้งเป้าสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้วยกลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย

1. Sources Transformation การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า

2. Sink Co-creation การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม

3. Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CO2)

1. Sources Transformation – เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิดด้วยการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลง และเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการที่ดำเนินการประกอบด้วย

  • โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Hydro-Floating Solar Hybrid) ที่ตอบโจทย์การลดคาร์บอน ลดฝุ่น และลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ที่จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037
  • การปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม (Grid Modernization)  พัฒนาให้ระบบมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ระบบการผลิตไฟฟ้านั้นมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น
  • การนำเทคโนโลยีใหม่ ที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมด้วยในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับอนาคต (Future Technology) รวมถึงเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

 2. Sink Co-creation – การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมา กฟผ. ปลูกป่ามาแล้วกว่า 4 แสนไร่ และขณะนี้มีแผนจะปลูกป่าในอีก 10 ปี (ปี 2565-2574)  1 ล้านไร่ กับพันธมิตรใน 3 กรม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยได้มุ่งเน้นไปที่การปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ
  • แนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS)  เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน ในปี  ค.ศ. 2045

3. Support Measures Mechanism – การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประกอบด้วย

  • โครงการด้าน Energy Efficiency อันได้แก่ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5, การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ, การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), โครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5, การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ได้แก่ Smart Energy Efficiency เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทราบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าใดที่มีการใช้ไฟมาก และควรมีการควบคุมอย่างไร, การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสังคมสีเขียว ที่จะเป็นความร่วมมือกันของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากยิ่งขึ้น
  • โครงการด้าน BCG Economy โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำพืช ชีวมวล หรือเศษไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณภาคเหนือให้นำมาขายให้  กฟผ. เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า แทนจากเดิมที่ใช้วิธีการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นควันของทางภาคเหนือลงได้ และในส่วนของ Circular Economy ที่ในอนาคต กฟผ. มีแผนที่จะทำโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตอีกด้วย

การตั้งเป้าหมายของ กฟผ. ถือเป็นสิ่งสำคัญเทียบเท่ากับการลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  ความเข้าใจในปัญหา นำมาซึ่งแนวทางการแก้ไข ไม่ใช่แค่เพียงปรับรูปแบบการทำงานขององค์กร แต่หมายรวมถึงการเป็นองค์กรเพื่อสังคม ที่จะร่วมนำพาสังคมไปสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน เพื่อคนไทยทุกคน

Advertisment