ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยามนี้ ต้องบอกว่าเข้าขั้นวิกฤติ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 มิ.ย.65 นั้น ติดลบสูงถึง 102,586 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินทั้งจากเข้าไปชดเชยราคาดีเซลและLPGรวมแล้ว กว่า 120,976 ล้านบาท โดยเจ้าหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันยังค้างไว้ก็คือบรรดาโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมัน ที่เดิมมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน นั่นเอง
ภาระหนี้ 120,976 ล้านบาทแบ่งเป็นส่วนของหนี้ที่ค้างชดเชยน้ำมันดีเซล 81,861 ล้านบาท และ LPG อีก 39,119 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขยังเดินหน้าทำสถิติใหม่ไปเรื่อยๆ จนกว่ากองทุนจะหยุดการชดเชย ปิดกล่องแล้วจึงจะรู้ว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ทำสถิติ กองทุนน้ำมันติดลบ และติดค้างหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ตัวเลขเท่าไหร่
ซึ่งเมื่อดูโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 29 มิ.ย. 65
กองทุนน้ำมันยังมีภาระที่ต้องเข้าไปชดเชยราคาดีเซล สูงถึงลิตรละ 10.77 บาท และชดเชยราคาLPG อยู่ 12.69 บาทต่อกิโลกรัม
ที่บอกว่ากองทุนน้ำมันอยู่ในขั้นวิกฤต ติดค้างหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องดูว่าบรรดาเจ้าหนี้จะยอมให้ค้างหนี้ได้แค่ไหน และทางเดียวที่กองทุนน้ำมันจะปลดภาระใช้คืนหนี้ดังกล่าวได้ ก็คือการหยุดชดเชยและกลับมาเก็บเงินจากดีเซลเข้ามาเป็นรายได้กองทุนเช่นเดิม ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐจะต้องปล่อยให้ดีเซลปรับราคาขึ้นอีกถึง 10 บาทต่อลิตร
ส่วนแนวทางที่จะก่อหนี้โดย กู้เงินจากสถาบันการเงินนั้นคงต้องเลิกคิด เพราะไม่มีสถาบันการเงินรายใดกล้าปล่อยกู้ เนื่องจาก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้เป็นส่วนราชการตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฏหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กระทรวงการคลัง จึงไม่สามารถเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ได้
ในการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆที่ทำให้ราคามีความผันผวนไปในทิศทางที่สูงขึ้น ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลจะปล่อยให้กองทุนน้ำมัน ติดลบทะลุเกินแสนล้านทำลายสถิติทุกรัฐบาลที่เคยมีมาแบบนี้ โดยในมาตรา 26 ของกฏหมายนั้นกำหนดกรอบวงเงินให้กู้ได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เท่านั้น หากจะกู้เกินกว่านี้ก็ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
อย่างไรก็ตามผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เมื่อต้นปี 65 ที่ฉุดให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลกลัวจะเสียคะแนนนิยมทางการเมืองด้วยเรื่องราคาน้ำมัน จึงต้องตรึงเพดานราคาดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเอาไว้ให้นานที่สุด กรอบวงเงิน 40,000 ล้าน ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. จึงถูกปลดล็อคโดยมติ กพช.และมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65 ที่ไม่กำหนดเพดานการกู้ และรัฐบาลจะมีการร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขกรอบวงเงินดังกล่าวในภายหลัง
ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ราคาน้ำมันตลาดโลก จะกลับมาอยู่ในช่วงขาลงตอนไหน และ ตัวเลขติดลบ และหนี้ของกองทุนน้ำมัน จะพุ่งขึ้นไปสิ้นสุดที่ตัวเลขใด แต่บอกได้เพียงว่า ช่วงน้ำมันขาลง ผู้ใช้น้ำมันดีเซล จะไม่ได้ใช้น้ำมันถูกลงตามต้นทุนที่ลดลงจริง เพราะคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน.ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะต้องไล่เก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้หนี้ให้หมดเสียก่อน
สรุปคือคนใช้ดีเซลนั่นเอง ที่จะเป็นคนมาแก้วิกฤติของกองทุนน้ำมัน ไม่ใช่ใครที่ไหน