เขียนเล่าข่าว EP 9 ส่องภาระจากการแทรกแซงราคาน้ำมันของรัฐบาลทักษิณ&พลเอกประยุทธ์​

2006
N1022
- Advertisment-

ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2548 รัฐบาลทักษิณ ยกธงขาวกับการอุ้มราคาดีเซล โดยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ให้เหลือศูนย์ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการอุดหนุนราคาน้ำมัน ที่ทำให้เกิดภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 92,070 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อไปชำระหนี้เดิมและจ่ายดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆของกองทุนในวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งในท้ายที่สุดก็คือผู้ใช้น้ำมันนั่นเองที่ต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ก้อนนี้ให้กองทุนน้ำมัน

หันมาดูนโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ใช้กองทุนน้ำมันและการลดภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกสำคัญเข้ามาช่วย ก็ต้องบอกว่ามีแนวโน้มที่จะทำลายสถิติในสิ่งที่รัฐบาลทักษิณ ทำไว้

โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นั้นติดลบไปแล้ว 81,395 ล้านบาท ในขณะที่ กองทุนน้ำมันยังคงมีภาระชดเชยราคาดีเซลอยู่ 6.54 บาทต่อลิตรและ ชดเชยราคาก๊าซหุงต้มอยู่ถึง 16.28 บาทต่อกิโลกรัม

- Advertisment -

เข้าไปอ่านงานศึกษาวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่อง “ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สรุปไว้ตั้งแต่ปี 2550 ที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2548 ของรัฐบาลทักษิณ ว่าทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด เพราะผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน โดยการใช้เบนซินในช่วงปี 2547-2549 น้อยกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 343.2 ล้านลิตร หรือร้อยละ 1.5 ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าที่ควรจะเป็นถึงประมาณ 5,838.6 ล้านลิตร หรือร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงราคา

ผลการศึกษาบอกด้วยว่าการอุ้มราคาดีเซลที่ทำให้การใช้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นยังทำให้เกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณมลพิษในอากาศทั้งNOx , CO และ SO2 มากกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้การอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
จะสามารถชะลอไม่ให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปมีระดับสูงขึ้นเร็วเกินไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และถ้าหากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนรัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาไว้ได้จนในที่สุดต้องปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันนั้น กลับจะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงราคาน้ำมันตั้งแต่ต้น

การอุดหนุนราคาน้ำมันจึงเป็นเพียงการผลักภาระของประชาชนจากปัจจุบันไปยังอนาคตเท่านั้น

มุมมองของทีดีอาร์ไอในช่วงนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลเลิกการแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตโดยเด็ดขาด และควรเร่งสร้างความเข้าใจต่อสื่อมวลชนและผู้นำสังคมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดจากการแทรกแซงราคาน้ำมัน เพื่อป้องกันการสร้างกระแสสังคมที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันอีก

ก็น่าคิดว่าบทเรียนจากการตรึงราคาน้ำมันในยุครัฐบาลทักษิณ​ แทบไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับรัฐบาลยุคถัดๆมา เพื่อปรับนโยบายและวิธีรับมือในยามที่สถานการณ์​ราคาน้ำมันตลาดโลกมีความผันผวนสูงเลย

และเมื่อดูจากภาระหนี้กองทุนน้ำมันในปัจจุบันที่ติดลบเกิน 8 หมื่นล้านบาทไม่นับรวมรายได้จากภาษีสรรพสามิตดีเซลที่หายไปจากนโยบายลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรเป็นการชั่วคราว หรือยอดการใช้ดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลของการตรึงราคาเอาไว้เป็นเวลานาน ก็กลายเป็นว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์​ ก็กำลังเดินตามรอยรัฐบาลทักษิณมาติดๆและอาจจะแซงหน้าไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หากไม่มีการปรับนโยบายการอุ้มดีเซลเสีย​ใหม่

-ใครสนใจรายละเอียดงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เรื่อง “ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน” ก็เข้าไปอ่านดูได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/03/oil.pdf

Advertisment