เขียนเล่าข่าวตอนนี้ เขียนเล่าให้อ่านเรื่องที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยรู้ แต่ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้ได้มากที่สุด
ย้อนอดีตไปตั้งแต่มีการขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย ซึ่งต้องถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ว่าก๊าซที่พบนั้นเป็น Wet Gas ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นพวก โพรเพน บิวเทน เพนเทนเฮกเซน ซึ่งเหมาะเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเนื้อก๊าซ แทนที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นนโยบายรัฐในการนำก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์จึงพยายามที่จะนำเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อคัดแยกเอาส่วนประกอบที่ดี มีมูลค่าสูงไปเป็นวัตถุดิบ ก่อนที่จะส่งเฉพาะมีเทนไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐที่ส่งเสริมให้มีการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 70% ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณก๊าซจำนวนหนึ่งต้องถูกส่งตรงจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย ตรงไปยังโรงไฟฟ้าโดยที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซ เพราะเป็นก๊าซส่วนเกินกว่ากำลังผลิตของโรงแยกก๊าซของ ปตท.ที่มีอยู่ 6 โรงจะรับได้ ก๊าซจำนวนนี้เองที่เรียกกันว่า Bypass Gas
ผู้อ่านหลายคนอาจจะเคยได้ยินสำนวนที่ผู้บริหารในแวดวงพลังงานบางคนเปรียบเปรยเรื่อง Bypass Gas ว่า เหมือนเอา “ไม้สักมาทำฟืน” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในมุมของการบริหารจัดการทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศ ที่ว่าด้วยนโยบายพลังงานที่รัฐเลือกเดิน ทำให้เราจำเป็นต้องทิ้งของดีจำนวนหนึ่งไปใช้ในทางที่เกิดมูลค่าเพิ่มน้อยที่สุด ซึ่งยังไม่มีใครคำนวณให้ว่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่องของ Bypass Gas ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปเป็นมูลค่าเท่าไหร่
เข้าประเด็นเรื่อง ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas พ.ศ. 2565 ที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.65 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือความพยายามที่จะบริหารจัดการให้เกิด Bypass Gasให้น้อยที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าภาครัฐเองก็มองเห็นประเด็นปัญหา เรื่องนี้ แต่เพิ่งมีจังหวะโอกาสเหมาะสมที่จะได้ทำ
ทั้งนี้ในช่วงที่การผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดปริมาณลง จนมีระดับใกล้เคียงกับกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปริมาณ Bypass Gas ก็ลดลงจนเกือบเหลือศูนย์โดยอัตโนมัติ เพราะก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย รวมทั้งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย มาเลเซีย นั้นสามารถส่งเข้าโรงแยกก๊าซได้ก่อนส่งไปโรงไฟฟ้าได้ทั้งหมด แต่การมีประกาศ กกพ.เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas ก็จะเป็นการการันตีในอนาคต ได้ว่า ก๊าซที่ผลิตออกมาจากแหล่งในอ่าวไทยและเจดีเอ นั้นจะต้องส่งเข้ามาให้เพียงพอกับความสามารถของโรงแยกก๊าซก่อน ส่วนการเรียกรับ Bypass Gas เพื่อควบคุมคุณภาพก๊าซ หรือกรณีที่โรงแยกก๊าซหยุดซ่อมบำรุง หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ ก็ให้ ผู้บริหาร Pool Gas คือ ปตท. จัดทำขั้นตอนปฏิบัติงานเสนอให้ กกพ.ได้พิจารณา
ในภาพรวมแล้วในที่สุดที่มีการบริหารจัดการ Bypass Gas อย่างเป็นระบบ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนใครอยากจะรู้รายละเอียดเกี่ยวกับประกาศหลักเกณฑ์มากกว่าที่เขียนไว้ ก็ตามไปอ่านดูประกาศที่แนบไว้ให้ด้านล่างนี้