เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ South China Morning Post รายงานข่าวน่าสนใจที่แสดงให้เห็นอีกหนึ่งความพยายามเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของจีน โดย China General Nuclear Power Group (CGN) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานผู้นำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของจีน ร่วมกับสถาบันวิจัยและหน่วยงานอุตสาหกรรมต่างๆ วางแผนพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็ค “เกาะพลังงานแบบบูรณาการ” นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นโครงการพลังงานสีเขียวที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นหนึ่งใน 10 โครงการวิศวกรรมที่ท้าทายที่สุดของจีน ประเทศที่ผลิตและบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก
CGN ประกาศเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ถึงแผนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแบบบูรณาการบนเกาะที่จะสร้างขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำการทดลองพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจรในทะเลลึกนอกชายฝั่ง ในมณฑลกวางตุ้ง
ที่ผ่านมาจีนพยายามมุ่งพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดจากพลังงานลมนอกชายฝั่งและการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) หรือ โซลาร์ลอยน้ำ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องที่ดินที่หายากมากขึ้น บรรดานักวิจัยของจีนได้ประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างเกาะพลังงานแบบบูรณาการในทะเลลึกแห่งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์พลังงานสะอาดของจีน
แต่การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรบนเกาะพลังงานสะอาดนอกชายฝั่งที่จะสร้างขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว จำเป็นจะต้องสร้างให้ไกลออกไปในมหาสมุทร เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางช่องทางการเดินเรือ การขนถ่ายที่ท่าเรือ และที่สำคัญ ไม่กระทบกับการทำประมงของชุมชนท้องถิ่น
เกาะเทียมขนาดใหญ่นี้จะเชื่อมต่อกับกังหันลมขนาดใหญ่ที่จะติดตั้งไว้บริเวณทะเลลึกนอกชายฝั่ง โดยพลังงานที่ผลิตละกักเก็บไว้ด้วยระบบกักเก็บพลังงานจะนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และการผลิตไฮโดรเจน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไฮโดรเจน เพื่อส่งกลับไปยังแผ่นดินใหญ่ในรูปแบบเชื้อเพลิงสะอาด
เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน จัดอันดับการก่อสร้างเกาะพลังงานในทะเลลึกเป็นหนึ่งใน 10 ความท้าทายทางวิศวกรรมของประเทศ โดยอ้างถึงความท้าทายในด้านต่างๆ เช่น การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำทะเล และการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนนอกชายฝั่ง นอกเหนือจากความยากลำบากในการสร้างเกาะเทียมขนาดใหญ่ที่ต้องทนต่อการกัดเซาะของน้ำทะเล พายุไต้ฝุ่น และแม้แต่สึนามิ
กลุ่ม CGN และพันธมิตรในโครงการดังกล่าว จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแสวงหาวิธีแก้ปัญหาสำหรับการผลิตพลังงานนอกชายฝั่ง การเชื่อมโยงเครือข่ายไมโครกริด และการควบคุม ประสานงาน และเทคโนโลยีการผลิตและการจัดเก็บไฮโดรเจนและแอมโมเนียในทะเล ตลอดจนการขนส่งเชื้อเพลิงที่ผลิตได้ขึ้นฝั่ง
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่จีนบอกว่าความยากของโครงการ คือ โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ลอยอยู่กลางทะเลลึก พร้อมด้วยโมดูลผลิตและเก็บรักษาสารเคมี ต้องมีโรงงานผลิตไฮโดรเจน แอมโมเนีย และแอลกอฮอล์ แบบย่อขนาดแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มลอยน้ำมีข้อจำกัดมากกว่าโครงการบนบก นอกจากนั้น การผลิตวัสดุไวไฟเหล่านี้จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและขนส่งพิเศษในทะเลลึกเพื่อความปลอดภัย และที่ท้าทายและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การบูรณาการทุกอย่างรวมกันบนเกาะเทียมซึ่งมีพื้นที่จำกัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ต้องมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเอง เพื่อให้สามารถออกแบบและจำลองโครงการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสาสตร์นอกชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว
จึงต้องจับตาดุกันต่อไปว่าโครงการเกาะเทียมพลังงานสะอาดครบวงจรของจีนจะเดินหน้าฝ่าฝันอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ จนประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาหนึ่งในแนวทางพัฒนาพลังงานสะอาดต่อไป