แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทยจะครบ 50 ปีของสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 นี้แล้ว
ความสำคัญของแหล่งก๊าซเอราวัณในมุมที่คนไทยควรจะรู้ คือ การเป็นแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศ ที่มีการสำรวจพบ มีการลงทุนผลิตก๊าซ ส่งผ่านท่อจากหลุมผลิตก๊าซอ่าวไทยขึ้นมายังฝั่งมาบตาพุด แล้วส่งต่อไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่แยกได้ส่วนใหญ่นำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และอีกส่วนที่สำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมากมายคือ เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับแหล่งก๊าซเอราวัณมี 3 ฝ่ายหลักๆคือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะตัวแทนภาครัฐที่เป็นผู้อนุมัติให้สัมปทาน บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทาน และ ปตท. ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายก๊าซ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์
–
ที่บอกว่า 23 เมษายน 2565 จะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญของแหล่งก๊าซเอราวัณ ก็เพราะจะเป็นวันสุดท้ายที่แหล่งก๊าซแห่งนี้จะดำเนินการภายใต้ระบบสัมปทานโดยเชฟรอน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนวันใหม่เป็น 24 เมษายน 2565 ก็จะมี บริษัท ปตท.สผ เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ที่ชนะการประมูล มารับช่วงต่อในฐานะผู้ดำเนินการรายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการผลประโยชน์ปิโตรเลียมแบบใหม่สำหรับประเทศไทยที่จะนำมาใช้เป็นครั้งแรก
ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดร. สราวุธ แก้วตาทิพย์ เมื่อไม่กี่วันมานี้ เลยได้ทราบว่า กว่าจะมาถึงวันที่ 23 เมษายน 2565 ผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องทำงานทุ่มเทกันอย่างหนัก เตรียมงานล่วงหน้ากันหลายส่วน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเอราวัณจากมือผู้รับสัมปทานรายเดิม ไปสู่มือ ปตท.สผ.อีดี ในบทบาทคู่สัญญากับรัฐรายใหม่ภายใต้ระบบพีเอสซี นั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย
ปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาจากหลุมยังสามารถไหลต่อเนื่องเข้าสู่ระบบท่อและเรือกักเก็บแบบไม่สะดุดโดยที่มีมิเตอร์วัดชัดเจน ว่าส่วนไหนคือของเชฟรอน และส่วนไหนจะเป็นของ ปตท.สผ.อีดี ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์กับรัฐ ณ เวลาที่ถือว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญา
ในมุมที่เป็นบวกสำหรับวันประวัติศาสตร์ของแหล่งก๊าซเอราวัณ การตั้งวอร์รูมขึ้นมาบริหารจัดการซึ่งมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ทั้งเชฟรอนที่เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม ปตท.สผ. อีดี ผู้รับสัญญารายใหม่ในระบบพีเอสซี ปตท.ที่จะเป็นผู้ซื้อก๊าซจากแหล่ง และ กฟผ. ที่จะเป็นคนนำก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โดยการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมทำความใจกันทำได้ค่อนข้างดี ทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณจากสัมปทานสู่แบ่งปันผลผลิตนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับวันเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่มีการนำเสนอเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ คือ ปริมาณก๊าซที่จะผลิตได้ นั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทาง ปตท.สผ.อีดี ทำไว้กับรัฐ คือไม่ต่ำกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยเป็นผลจากการที่ ปตท.สผ.อีดี ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมเพิ่มการผลิตไว้ล่วงหน้าได้ตามแผน โดยก๊าซที่จะผลิตได้ในวันที่เริ่มต้นสัญญาใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 420 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ก๊าซส่วนที่หายไป ซึ่งควรจะมีราคา 116 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนหนึ่งจะต้องมีการนำเข้า LNG ที่ราคา Spot LNG ปัจจุบัน อยู่ที่ ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู (บนพื้นฐาน อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ1 เหรียญสหรัฐ ราคา Spot LNG จะอยู่ที่ 960 บาท ต่อล้านบีทียู)
โดยตามแผนที่กระทรวงพลังงานได้รายงานให้ กพช. ได้รับทราบไปแล้วนั้น ปตท. จะมีการนำเข้า LNG มาทดแทนก๊าซที่หายไปจากแหล่งเอราวัณ ประมาณ 1.8 ล้านตันในปี 2565
และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือคดีความในกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการที่ทาง เชฟรอน สหรัฐอเมริกา ยื่นฟ้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณ ที่คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีอีกพอสมควร
23 เมษา 65 วันประวัติศาสตร์แหล่งก๊าซเอราวัณ จึงเป็นทั้งข่าวดีสำหรับคนไทยที่แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ในอ่าวไทยยังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลืออยู่อีกพอสมควร จะได้กลับมาอยู่ในมือคนไทยในการบริหารจัดการเองภายใต้ระบบพีเอสซีที่เป็นระบบใหม่ แต่ก็ต้องแลกกับความกังวลเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในระยะแรกที่เอราวัณยังผลิตไม่ได้ตามแผน และคดีความในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ยังต้องลุ้นว่าสุดท้ายรัฐจะแพ้หรือชนะคดี
–