- Advertisment-

ปิโตรเคมี ซีรีส์ ตอนที่ 5: อุตสาหกรรมปิโตรเคมีผสานแนวคิด Circular Economy และ ESG เดินหน้าสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืน

อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ นอกจากจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือ ประเด็น “ความยั่งยืน” (Sustainability) โดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั่วโลกที่มีมากขึ้น

นโยบายเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้นธุรกิจนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนดังกล่าว โดยการนำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) มาปรับใช้ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เช่น ปรับใช้วัตถุดิบรีไซเคิล วัตถุดิบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล ต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปริมาณของเสีย ประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รวมถึงการคัดแยกและรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ เพื่อนำทรัพยากรกลับเข้าสู่ระบบเพื่อหมุนวนกลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง

- Advertisment -

Ellen MacArthur Foundation ให้ข้อมูลว่า มีการประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) ทั่วโลกจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5.1 หมื่นล้านตัน แต่หากใช้หลักการ Circular Economy จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20% หรือ 1 หมื่นล้านตัน

ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลของ 27 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 90% ของ GDP โลก เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และบางประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย มีการขับเคลื่อนการใช้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการกับขยะพลาสติกและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้ดีขึ้น เช่น นโยบายเก็บภาษีฝังกลบขยะ หรือการห้ามฝังกลบขยะ นโยบายรีไซเคิล นโยบายบรรจุภัณฑ์โดยใช้หลัก Extended Producer Responsibility (EPR) การห้ามใช้ถุงพลาสติก และสนธิสัญญาพลาสติกโลกเพื่อยุติมลพิษพลาสติก เป็นต้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการออกกฎหมายและนโยบายด้าน ESG (Environmental, Social, Governance) มากขึ้นอีกในอนาคต

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยิ่งเป็นตัวเร่งให้องค์กรในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้อยู่ภายใต้สมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยมุ่งเน้นให้ธุรกิจเติบโตโดยมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมครบทุกมิติ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ทุกคนต้องการจะทำให้สำเร็จภายในปี 2030

ทั้งนี้ การที่องค์กรดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ ESG นอกจากจะส่งเสริมให้องค์กรก้าวสู่เป้าหมาย SDGs ได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของธุรกิจในปัจจุบันได้ และส่งผลต่อความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาวขององค์กรอีกด้วย โดยการดำเนินงานตามหลัก ESG จะทำให้องค์กรดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้ โดยผลสำรวจระบุว่า 40% ของคนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยหลักการด้านความยั่งยืน ซึ่งบุคลากรที่มีศักยภาพจะส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนขององค์กร

ขณะเดียวกัน องค์กรจะสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสานแนวคิดด้านความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดึงดูดคู่ค้าที่มีความสนใจและให้ความสำคัญด้าน ESG ซึ่งมีผลสำรวจพบว่า คู่ค้ามากกว่า 20% ยอมจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% เพื่อซื้อสินค้ายั่งยืน (Sustainable Goods)

การดำเนินงานลักษณะนี้จะช่วยให้องค์กรเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีภาพลักษณ์และการดำเนินงานที่ดีร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เช่น Green Finance ได้

นอกจากนี้ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณของเสียและขยะจากการดำเนินการ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้อีกด้วย

การดำเนินงานด้าน ESG ยังช่วยลดการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ ลดความเสี่ยงจากการไปลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นในอนาคต และได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการลงทุน เพราะปัจจุบัน นานาชาติต่างมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มีโอกาสทำผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

แหล่งข้อมูล:

– GSI review 2018; Accenture Chemicals Global Consumer Sustainability Survey 2019, Climate Watch, BCG Survey on COVID-19 and Environment

– Mckinsey, Five ways that ESG creates value (November 2019)

Advertisment