- Advertisment-

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อต้นปี 2565 ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนระดับสูง แม้จะคลี่คลายลงมาบ้างในปัจจุบัน แต่กลไกสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐที่มีไว้เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะผู้ใช้กลุ่มดีเซล ต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายตามต้นทุนจริงคือ การมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เข้ามาช่วยแบกรับภาระเอาไว้ให้ก่อน

ฐานะกองทุนน้ำมันฯ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 67 ติดลบมากถึง 111,338 ล้านบาท (แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 63,641 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 47,697 ล้านบาท) จึงเห็นได้ว่า หากรัฐไม่มีกลไกกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ รัฐจะต้องใช้กลไกอื่น เช่น ลดภาษีสรรพสามิตที่อยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อมาช่วยลดราคาน้ำมันลงแทนกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งอาจจะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีในส่วนนี้ไป หรือหากไม่ใช้กลไกภาษีสรรพสามิต ก็ต้องปล่อยให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง 

ลองคิดคำนวณตัวเลขให้เห็นชัด ๆ ว่าภาระที่กองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุ้มราคาดีเซล จนสถานะกองทุนติดลบนั้น (เฉพาะบัญชีน้ำมัน 63,641 ล้านบาท) หากต้องการเคลียร์ภาระหนี้ก้อนนี้ให้หมดในครั้งเดียว คงต้องปรับขึ้นราคาดีเซล มากถึง 918 บาทต่อลิตรเลยทีเดียว (คำนวณจากข้อมูลเฉลี่ยการใช้น้ำมันดีเซลของกรมธุรกิจพลังงาน ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 67 ซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ 69.3 ล้านลิตร)

- Advertisment -

ปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งจากโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 12 ก.ค. 2567 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเห็นได้ว่ากองทุนน้ำมันฯ ยังต้องช่วยชดเชยราคาดีเซลอยู่ลิตรละ 1.89 บาท

ดังนั้น การมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จึงตอบโจทย์หลักการสำคัญในการเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ หลักการสำคัญของการตั้งกองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นไปเพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศด้วย

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันฯ นั้น ตั้งขึ้นตามคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ดังนั้นการที่มีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จึงเป็นการยกระดับกองทุนน้ำมันฯ ให้เป็นกลไกของรัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่มีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารกิจการของกองทุนน้ำมันฯ และมีสํานักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคล อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจและหน้าที่จัดทําแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกู้ยืมเงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกรณีที่เงินกองทุนน้ำมันฯ มีไม่เพียงพอสําหรับการดําเนินงานตามวัตถุประสงค์ โดยที่การกู้ยืมเงินต้องได้รับความเห็นชอบจาก กบน. และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับรายรับของกองทุนน้ำมัน ส่วนหนึ่งเก็บรวมอยู่ในราคาน้ำมันขายปลีกอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อเป็นรายได้ ก็คือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีการบวกต้นทุนส่วนนี้เข้าไปในราคาที่จำหน่ายให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ตามโครงสร้างราคาที่ สนพ. ประกาศ ณ วันที่ 12 ก.ค. 67 ในราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ที่ทั้งรถยนต์นั่งและรถมอเตอร์ไซค์เติมอยู่ลิตรละ 38.85 บาท นั้น ได้รวมในส่วนที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นจำนวน 3.70 บาทต่อลิตร แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ดีเซลที่เติมลิตรละ 32.94 บาท กองทุนน้ำมันต้องช่วยชดเชยอยู่ลิตรละ 1.89 บาท ทั้งนี้เพื่อให้ระดับราคาไม่ทะลุเกินลิตรละ 33 บาทตามมติ ครม. ที่ได้เห็นชอบไว้นั่นเอง

Advertisment