เขียนเล่าข่าว EP. 58 – กลไกการปรับขึ้นและลงของราคาน้ำมัน และปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทย

517
- Advertisment-

ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า​ ปัจจุบัน ตลาดการค้าน้ำมันของไทยเป็นตลาดการค้าเสรี เพราะรัฐเชื่อมั่นในกลไกการแข่งขัน​ของผู้ค้าน้ำมันที่มีจำนวนมากรายอยู่ในตลาด​ ทำให้ผู้ใช้น้ำมันมีทางเลือกว่าจะเติมน้ำมันกับรายใดก็ได้​

ในทางปฏิบัติ​ ผู้บริโภคจะสามารถทราบโครงสร้างอ้างอิงราคา​ขายปลีกน้ำมันในประเทศ ผ่านทางประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ (สนพ.)​ ที่อัพเดทเผยแพร่ทางเว็บไซต์ทุกวัน​ (https://www.eppo.go.th) รวมถึงราคาขายปลีกของผู้ค้าน้ำมันแต่ละราย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกเติมจากสถานีบริการที่ตนเองพอใจได้



- Advertisment -

มาถึงประเด็นการปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ​ จะพบว่า​ปัจจัยที่มีผลต่อราคามากที่สุด คือ​ ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่ซื้อจากโรงกลั่น หรือที่เรียกว่า “ราคา ณ โรงกลั่น” มีสัดส่วนประมาณ 71% ของราคาน้ำมัน ซึ่งต้นทุนเนื้อน้ำมันนี้ใช้หลักการกำหนดราคาแบบ Import Parity

หลายคนน่าจะเคยสงสัยว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา และมีราคาที่แตกต่างจากราคาน้ำมันตลาดโลก โดยปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยนั้น ประกอบด้วย

1. ราคาตลาดน้ำมันที่ประเทศไทยอ้างอิง

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีสัดส่วนหลักมาจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งใช้หลักการกำหนดราคาโดยอ้างอิงจากราคาตลาดโลก เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ที่เป็นตลาดซื้อขายน้ำมันใหญ่ที่สุดของเอเชีย และใกล้ประเทศไทยมากที่สุด โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป มีอาทิ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสภาวะสงครามในแต่ละภูมิภาค รวมถึงปริมาณสำรองน้ำมัน (Inventory) ของโรงกลั่นน้ำมันในแต่ละภูมิภาค สภาพอากาศและภัยพิบัติ เช่น พายุเฮอริเคน หรือ แผ่นดินไหว ที่มีผลให้โรงกลั่นต้องหยุดการผลิต หรือได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำมันที่ผลิตเข้าสู่ตลาด สงครามการค้า เช่น การออกมาตรการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าหรือส่งออก

2. นโยบายภาครัฐ

นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน (Price Subsidy) หรือ มาตรการภาษี การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ย่อมมีผลต่อการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันในแต่ละประเทศให้มีความแตกต่างกัน เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่มีทรัพยากรน้ำมันอยู่มากและไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตลาดโลก จึงสามารถกำหนดราคาขายให้ต่ำได้ ส่วนประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายจัดเก็บภาษีและเงินกองทุนเพื่อเป็นกลไกของรัฐในการรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เนื่องจากโดยหลักยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป

อ่านมาถึงบรรทัดนี้เราก็ทราบเบื้องต้นแล้วว่า​ 

– ตลาดการค้าน้ำมันของไทย​ เป็นตลาดการค้าเสรี​ 

– รัฐกำหนดโครงสร้างราคาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิง​

– ปัจจัยที่มีผลต่อราคาขายปลีกในประเทศมากที่สุด​คือ​ การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ตามหลักการ Import Parity ซึ่งมักจะผันผวนตาม​ปัจจัย​ที่หยิบยกมาอธิบายข้างต้น

ทั้งนี้ ​ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ​ มักจะไม่ปรับราคาขึ้นลงวันต่อวัน​เหมือนราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก​  โดยผู้ค้าน้ำมัน​มักจะกำหนดราคาแบบถัวเฉลี่ย​ ให้ราคาขายปลีกมีเสถียรภาพมากที่สุด​ โดยที่รัฐยังมีกลไกที่สำคัญ​ในการรักษาเสถียรภาพของราคา​ คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง​ ซึ่งปัจจุบันมีภาระค่อนข้างหนักในการรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน

ตอนต่อไปเราจะไปดูบทบาท หน้าที่ และสถานะล่าสุดของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โปรดติดตาม

Advertisment