เขียนเล่าข่าว EP. 57 – อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหนุนการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง  

459
- Advertisment-

ปิโตรเคมี ซีรีส์ ตอนที่ 3: อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหนุนการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง  

เส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อครั้งประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนน้ำมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) จนต้องนำเข้าน้ำมันในราคาแพง รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลขึ้นในปี พ.ศ. 2514 และประสบความสำเร็จค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 นำไปสู่การจัดตั้ง “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ขึ้นในปี พ.ศ. 2521 เพื่อดำเนินกิจการก๊าซธรรมชาติและภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และต่อยอดพัฒนาสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สร้างมูลค่ามหาศาลและเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลเริ่มลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยมาขึ้นบกที่ระยอง และท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นแรกในปี พ.ศ. 2523 จากระยองเพื่อไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และต่อยอดไปสู่การก่อตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1 ขึ้น ในปี พ.ศ. 2527 โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาตินี้จะนำสารประกอบที่มีคุณค่าจากก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ก๊าซอีเทน C2 ก๊าซโพรเพน C3 ก๊าซบิวเทน C4 สำหรับผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งในขณะนั้นความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นต้น

รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากก๊าซธรรมชาติและทดแทนการนำเข้า โดยมีแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 1 พ.ศ. 2523 – 2532 แผนพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 2 พ.ศ. 2533 – 2547 โดยพื้นที่ตั้งหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยอยู่ที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และ อ.มาบตาพุด อ.เชิงเนิน จ.ระยอง รวมกำลังการผลิตปิโตรเคมี 35 ล้านตัน (ข้อมูลจากสถาบันโตรเลียมแห่งประเทศไทย (Petroleum Institute of Thailand – PTIT ปี 2565)

- Advertisment -

การผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศ โดยอาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ คลื่นลูกที่ 1 (1st WAVE)  พ.ศ. 2516 – 2532 เป็นช่วงของการค้นพบก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรก ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในประเทศ ช่วยทดแทนการนำเข้า และเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งดำเนินการอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525 – 2529) และโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะที่ 1 (2524 – 2537)

คลื่นลูกที่ 2 (2nd WAVE)  พ.ศ. 2533 – 2553 เป็นช่วงของการเปิดเสรีธุรกิจปิโตรเคมี เกิดผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด จนนำไปสู่การพัฒนาเพื่อการส่งออก ซึ่งดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (2535 – 2539) และโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะที่ 2 (2538 – 2551)

คลื่นลูกที่ 3 (3rd WAVE)  พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน เป็นช่วงที่กลุ่มโรงงานปิโตรเคมีครบวงจรขยายและควบรวมกิจการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยดำเนินการอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 – 2559)

และคลื่นลูกใหม่ (NEW WAVE) ยุคปัจจุบัน – อนาคต ซึ่งจะพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่ออนาคต เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC & EECi)

การกำหนดแผนพัฒนาปิโตรเคมีให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ จ. ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเติบโตและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ถึง 9 แสนล้านบาท นับตั้งแต่มีการตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1 (GSP 1) ในปี พ.ศ. 2527 และมีการตั้งโรงงานโอเลฟินส์แห่งแรกของไทยในปี พ.ศ. 2535 จนปัจจุบันไทยมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งสิ้น 6 หน่วย โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1-3 หน่วยที่ 5 และ หน่วยที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 ตั้งอยู่ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

โดยในปี พ.ศ. 2565 ไทยมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีรวมประมาณ 36 ล้านตัน ซึ่งมาจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. 51% (โดยส่วนใหญ่ผลิตจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ถึง 39%)

การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้สร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยนับตั้งแต่มีการผลิตปิโตรเลียม ได้เกิดมูลค่าการลงทุนมากถึงราว 1.25 ล้านล้านบาท และในช่วงของการผลิตปิโตรเคมีต้นน้ำและกลางน้ำ ก็เกิดการสร้างรายได้ 836,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.2% ของ GDP ประเทศไทย รวมถึงเกิดการสร้างงานถึง 414,000 คน ส่วนในช่วงปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ ก็เกิดผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า 3,000 ราย รวมถึงสร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึง 486,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้พื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนครองแชมป์อันดับ 1 ของประเทศ ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงสุดของประเทศมาอย่างต่อเนื่องด้วย (PTIT 2023 / ข้อมูล ณ ปี 2021 ยกเว้นมูลค่าการลงทุน ปี 1990 – 2021)

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยอย่างมากมาย ทั้งเป็นวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยเก็บอาหารสดได้นานขึ้น รวมถึงช่วยให้การขนส่งง่ายขึ้น และป้องกันการปนเปื้อนของอาหาร แถมยังช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ช่วยให้การใช้วัตถุดิบน้อยแต่สามารถผลิตได้ปริมาณมาก และมีความคงทนสูง สภาพดี ใช้งานได้ยาวนาน และนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้

นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุดิบในด้านอุปกรณ์ยานยนต์ ที่ช่วยลดน้ำหนักของรถยนต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงใช้เป็นอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในรถยนต์ เช่น เบาะรถยนต์ เข็มขัดนิรภัย Airbags เป็นต้น รวมถึงยังเป็นวัตถุดิบในอุปกรณ์ก่อสร้างที่อยู่อาศัย เช่น ฉนวนกันความร้อน ทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน และยังช่วยสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการเป็นวัตถุดิบในด้านอุปกรณ์การแพทย์ เช่น หลอดฉีดยา ถุงน้ำเกลือ อวัยวะเทียมต่าง ๆ รวมถึงการผลิตแว่นตา เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น 

นับตั้งแต่มีการขุดพบก๊าซธรรมชาติ จนนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทย ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และไทยยังไม่หยุดยั้งที่จะเติบโตพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตเคมีในอนาคตต่อไป



Advertisment