คำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ซึ่งยังมีคนสงสัยและดูเหมือนจะยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในใจสักที ว่าทำไมเราต้องนำเข้าน้ำมัน และทำไมถึงไม่สามารถขายน้ำมันในราคาถูกให้คนในประเทศใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่ในประเทศตัวเอง แถมยังมีการส่งออกอีกด้วย
คำตอบที่พยายามจะอธิบายให้คนที่ยังมีความสงสัยได้เกิดความกระจ่างในใจ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในต่างประเทศมาใช้ ก็เพราะแหล่งน้ำมันที่เรามีอยู่ในประเทศนั้นผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้
ส่วนการที่เรามีน้ำมันส่งออกด้วยนั้น ก็เป็นน้ำมันจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในประเทศ ที่คุณภาพไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ เพราะมีสารปนเปื้อนสูง และส่วนที่สอง คือน้ำมันสำเร็จรูป ที่โรงกลั่นน้ำมันกลั่นออกมามากเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ในปี 2566 ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ทำได้ประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเติมความต้องการอีกประมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในประเทศในปี 2566 นั้น มีกำลังผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน (น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดิบที่นำเข้า) ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ก็ได้ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาจากโรงกลั่นในประเทศเพื่อมาใช้ อีกประมาณเฉลี่ย 9 ล้านลิตร/วัน
โดยสรุป ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นน้ำมันดิบส่วนที่ขาดจึงต้องมีการนำเข้าอีกกว่า 90% โดยประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ออสเตรเลีย อีกรวม 24%
การที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นทำให้การกำหนดราคาขายต้องอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายในประเทศก็จะปรับลดลงด้วย เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงแบบเรียลไทม์ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยอีกหลายประการ เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านจะมีข้อมูลและความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น