หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 หรือเรียกสั้นๆว่า วพม.2 ภายใต้สถาบันวิทยาการพลังงาน ( Thailand Energy Academy ) จับมือกับ สมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน จัดสัมมนาเรื่อง ” ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร ? ” ในวันที่ 25 เมษายน 2567 นี้ ซึ่งเป็นการหยิบเอาประเด็น”ค่าไฟฟ้า ” ที่ทุกครัวเรือน โรงงาน อาคารพาณิชย์ ต้องจ่ายในแต่ละเดือน และมีเสียงสะท้อนว่า ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง? มาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และอธิบายความในเวทีเดียวกัน
ไล่เรียงตั้งแต่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.) ซึ่งมีบทบาทด้านนโยบายและจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่เป็นต้นทางสำคัญ ว่าจะใส่โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกหรือแพง เข้ามาอยู่ในระบบอย่างไร โดยมองยาวไปในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ทาง ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผอ.สนพ. ก็ตอบรับที่จะมาช่วยอธิบายด้วยตัวเอง
ในขณะที่บทบาทในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่เป็นผู้คิดคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละรอบนั้น ทางคุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ ก็จะมาแจกแจงด้วยตัวเองเช่นกัน
ส่วนหน่วยงานที่เป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คือก๊าซธรรมชาติ ทางผู้จัดเชิญ คุณวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาร่วมเสวนา
ด้านภาคการผลิตไฟฟ้า ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลัก ก็ได้เชิญ คุณวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้า จะมี คุณนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และตัวแทนฝั่งผู้บริโภค ที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ทางผู้จัดได้เชิญ คุณชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย มาช่วยวิจารณ์ฝ่ายนโยบาย กำกับดูแล และภาคการผลิตไฟฟ้า ว่าเท่าที่เห็นและเป็นอยู่นั้น ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเป็นธรรมอยู่หรือไม่ หรือถ้าต้องบริหารจัดการให้เป็นธรรมมากกว่านี้ แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องทำอย่างไร ?
ต้องบอกว่า งานสัมมนาครั้งนี้ในแวดวงพลังงาน ถือว่าทางผู้จัดงานกำหนดหัวข้อได้น่าสนใจ สอดคล้องกับสถานการณ์อากาศร้อน ความต้องการใช้ไฟฟ้าพีคสูงสุด ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และผู้จัดก็สามารถเชิญผู้ที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละภาคส่วนเข้ามาอยู่บนเวทีเดียวกันได้ครบถ้วน ตั้งแต่ นโยบาย กำกับดูแล จัดหาเชื้อเพลิง ผลิต และผู้ใช้รายใหญ่ มาแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นคำถามเดียวกัน เพื่อช่วยหาคำตอบร่วมกันว่า ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมคืออะไร และจะช่วยกันทำให้เกิดค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม นี้ได้อย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคที่จ่ายค่าไฟฟ้า ได้จ่ายเงินด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพียงแต่เวลาที่มีจำกัดนั้น จะทำให้ แต่ละท่านได้อธิบายความและขยายประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจได้แค่ไหนเท่านั้น
ผู้สนใจอยากเข้าร่วมงานสัมมนา สามารถสแกน คิวอาร์โค้ด ร่วมงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ตามภาพประกอบที่แนบมาให้ เพียงแต่ต้องรีบหน่อยแค่นั้น เพราะจำนวนที่นั่งมีจำกัด และไม่มีการถ่ายทอดสด Live ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย