เขียนเล่าข่าว EP. 51 กองทุนน้ำมันติดลบแสนล้าน ใครต้องจ่าย ?

372
- Advertisment-


ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 14 เมษายน 2567 ติดลบมากถึง 1.03 แสนล้านบาท แม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขสูงสุดที่เคยติดลบ เพราะเคยพุ่งขึ้นไปถึง 1.3 แสนล้านบาทมาแล้วในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่เผชิญกับราคาพลังงานที่ผันผวนรุนแรงจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ก็ถือว่าเป็นภาระหนักกับการที่ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้  ที่ต้องไปกู้มาจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ชดเชยราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ตามนโยบาย  ซึ่งตอนนี้ในยอดเงินที่ติดลบนั้นแยกออกเป็นส่วนของบัญชีน้ำมันติดลบอยู่  5.6 หมื่นล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG นั้นติดลบ 4.7 หมื่นล้านบาท

ในสถานการณ์ปกติ กองทุนน้ำมันฯจะมีรายได้มาจากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน  ทั้งในกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และ กลุ่มดีเซล  แต่ในนโยบายของภาครัฐ  ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งนั่งเป็นทั้งประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) ต้องการที่จะดูแลระดับราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซLPG ไม่ให้สูงจนเกินไป  เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และคงนโยบายดังกล่าวเอาไว้เป็นเวลานาน  จึงทำให้กลไกการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เปลี่ยนเป็นเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน  ทั้งในกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์  มาอุดหนุนกลุ่มผู้ใช้ดีเซล และ ก๊าซ LPG  โดยตัวเลขอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 19 เม.ย. 2567 นั้น เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 9.38 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตร 2.80 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 1.75 บาท เพื่อเอาไปชดเชยให้ผู้ใช้ดีเซล ลิตรละ 4.77 บาท และ ผู้ใช้ ก๊าซ LPG กิโลกรัมละ 5.25 บาท   

ที่กองทุนน้ำมันต้องแบกภาระหนักระดับติดลบเกินแสนล้านอีกรอบ เพราะนโยบายการกลับมาตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่หาเสียงไว้กับประชาชนช่วงการเลือกตั้งว่าจะช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยลดค่าไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซหุงต้ม  จากระดับราคาขายปลีกดีเซล ที่เคยขยับเพดานขึ้นไปแตะลิตรละ 35 บาทและดึงลงมาเหลือ 32 บาทต่อลิตร ช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และบรรดาผู้ผลิตสินค้า บริการขนส่ง ร้านค้า  ร้านอาหาร ต่างปรับขึ้นราคาสินค้าสะท้อนต้นทุนกันไปแล้ว  โดยที่รัฐใช้ทั้งกลไกกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนราคาดีเซลและ ก๊าซ LPG เพิ่ม และการปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงเป็นการชั่วคราว ที่เพิ่งสิ้นสุดมาตรการไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2567  ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 6  เดือนของการดึงราคาดีเซลให้ลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตรนั้น ราคาสินค้าและบริการที่เคยปรับขึ้นไปก่อนหน้านั้น ผู้ประกอบการก็ไม่ได้ปรับลดราคาลงมาตามต้นทุนดีเซลที่ลดลงเลย จึงมีเสียงวิจารณ์กันพอสมควร ถึงนโยบายเพดานราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ว่ายังเป็นตัวเลขที่เหมาะสมอยู่หรือไม่ ใครที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากนโยบายดังกล่าว และใครที่ต้องรับผลกระทบ 

ในคำถามข้างต้นที่ว่า กองทุนน้ำมันติดลบแสนล้าน ใครต้องจ่าย ? ก็ตอบได้เลยตามข้อเท็จจริงว่า ผู้ใช้น้ำมันนั่นเองที่ต้องเป็นคนจ่ายคืนภาระดังกล่าวบวกด้วยอัตราดอกเบี้ย ที่ทางสกนช.ไปกู้ยืมมา ซึ่งถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราเรียกเก็บในภายหลัง ให้เป็นธรรมมากขึ้น กลุ่มคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ ซึ่งหมายรวมถึงผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไชค์ 21 ล้านคัน 21 ล้านคะแนนเสียงด้วย เพราะยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ฝ่ายเดียว 

- Advertisment -
Advertisment