ต่อจากตอนที่แล้วที่ผมมีโอกาสไปที่อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ของ PTTLNG ฟังการบรรยายสรุปจากซีอีโอ ปตท. คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ถึงภาพรวมธุรกิจ LNG และการใช้ประโยชน์จากความเย็นที่ติดมากับ LNG ซึ่งน่าสนใจเพราะการซื้อ LNG จากต่างประเทศมีกระบวนการต้นทางของผู้ขาย ที่ต้องทำให้ก๊าซธรรมชาติมีสถานะเป็นของเหลวโดยลดอุณหภูมิให้ติดลบ 160 องศาเซลเซียส ปริมาตรลดลง 600 เท่าเพื่อให้คุ้มค่าต่อการขนส่งระยะทางไกลๆ เมื่อมาถึงที่ LNG Terminal ต้องแปรสภาพเปลี่ยนคืนสถานะให้กลายเป็นก๊าซ ความเย็นที่ติดมาด้วยก็จะสลายไป ถ้าใครไม่เรียนรู้ที่จะนำความเย็นนั้นมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ ก็ถือว่าเป็นการเสียโอกาส
ในเช้าของอีกวัน คณะ ปตท.พามาดูโรงงานผลิตแบตเตอรี่ pilot plant ของ Nuovo Plus (อ่านออกเสียงว่า นูออโว พลัส )ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. โดยที่มี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.เป็นผู้บรรยายภาพรวมธุรกิจแบตเตอรี่และ ESS (Energy Storage System ) ให้คณะสื่อมวลชนที่ร่วมทริปครั้งนี้ได้รับฟัง
ธุรกิจแบตเตอรี่และ ESS ของกลุ่ม ปตท.ลงทุนผ่านบริษัท Nuovo Plus จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยเป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง อรุณ พลัส (ปตท.ถือหุ้น 100%) สัดส่วน 51% และ GPSC 49% โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต ออกแบบระบบ ให้บริการด้านเทคนิคและ Energy Solution แก่ลูกค้า รวมไปถึงงานวิจัยทั้งในด้านกระบวนการผลิต นวัตกรรมแบตเตอรี่และการ Recycle แบตเตอรี่ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาดของประเทศและอุตสาหกรรมไทย
โดยปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ ปตท.ต้องลงมาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นนโยบายของภาครัฐ ที่ประกาศเดินหน้า สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ) และสู่การปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) โดยรัฐมีนโยบายที่เร่งส่งเสริมทั้ง การพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (renewable) และยานยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicles: EV) ที่จำเป็นจะต้องมีแบตเตอรี่และระบบการกักเก็บพลังงานหรือ ESS มารองรับ
ที่ผ่านมา Nuovo Plus ไปจับมือกับ Gotion ที่เป็นบริษัทชั้นนำ ในธุรกิจแบตเตอรี่ระดับโลก จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อผลิตแบตเตอรี่และให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยผลิตชุดแบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง สำหรับตลาดยานยนต์และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าในนาม NV Gotion ที่โรงงานแบตเตอรี่ระดับกิกะวัตต์ (Giga Battery Factory) ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยจะมีศักยภาพการผลิต ณ ปี 2566 ที่ 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และจะขยายเป็น 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในปี 2567
ในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมด้านแบตเตอรี่นั้น Nuovo Plus ได้ร่วมมือกับบริษัท 24m ซึ่งเป็นผู้นำระดับสากลด้านนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่แบบ Semi-Solid Platform Technology ทำโรงงานต้นแบบขนาด 30 เมกกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายใต้แบรนด์ G-Cell ซึ่งเป็น Semi-solid li-ion battery ที่มีความปลอดภัยสูงและง่ายต่อการ Recycle และศูนย์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ ปตท.พาคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชม
ดร.บุรณิณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เป้าหมายความสำเร็จในธุรกิจแบตเตอรี่ ของกลุ่ม ปตท. คือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจหรือEcosystems ให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจรในประเทศ โดยที่ ปตท.ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเองทั้งหมด โดยการจัดตั้ง NUOVO PLUS ขึ้นมาด้วยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยีและเงินทุน เป็นเหมือนการจุดประกายให้กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการสร้างEcosystems ให้เกิดขึ้นให้ได้
โดยรัฐมีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 % ภายในปี 2030 ซึ่งหมายถึงว่าจะมีรถยนต์อีวี วิ่งบนถนน 6 แสนคันซึ่งจะต้องมีแบตเตอรี่ และ ESS มารองรับ ซึ่งโรงงานที่ NUOVO PLUS ลงทุนนั้นมีกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี รองรับได้ประมาณ 50,000 คัน ซึ่งหากดีมานด์เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเอาไว้ ก็ยังมีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับได้
อย่างไรก็ตามความท้าทายทางธุรกิจสำหรับ NUOVO PLUS คือ คุณภาพและราคาจำหน่ายแบตเตอรี่ ที่จะต้องแข่งขันได้กับแบตเตอรี่นำเข้า และสิ่งที่ ดร.บุรณิณ บอกกับผู้สื่อข่าวว่าอยากจะเห็น รถยนต์อีวี จากยุโรป และญี่ปุ่น เข้ามาตีตลาดรถยนต์อีวีในไทยบ้าง จากปัจจุบันที่รถยนต์อีวี ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน
สิ่งสำคัญของการลงทุนสร้างโรงงาน Pilot Plant และศูนย์วิจัย พัฒนาแบตเตอรี่ของ Nuovo Plus ทำให้คนของ ปตท.เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆในทางธุรกิจ จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเดิมธุรกิจหลักคือก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และปิโตรเคมี การก้าวข้ามมาในสนามธุรกิจใหม่ คราวนี้ ดร.บุรณิณ บอกกับผมว่า “ จีนซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในตอนนี้นั้นใช้เวลาสร้าง Ecosystems กว่า 20 ปี ดังนั้นเป้าหมายที่ ปตท.ต้องการจะสร้าง Ecosystems นี้ให้เกิดขึ้นในประเทศคือ เราจะเรียนรู้ว่าจะทำให้เร็วกว่านื้ได้อย่างไร ตอนนี้ ปตท.เริ่มทำมาแล้วและรู้แล้วว่า จุดสลบของธุรกิจแบตเตอรี่ คืออะไร “
ต้องรอติดตามว่า Ecosystem ธุรกิจแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้าแร่และวัสดุที่สำคัญ การตั้งโรงงาน ผลิต จำหน่าย ทำการตลาด แข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า และการรีไซเคิล จนเกิดเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่เต็มรูปแบบ ที่ ปตท.ตั้งเป็นเป้าหมายจะผลักดันให้สำเร็จ และเกิดขึ้นได้ภายในกี่ปี