โดย.. ดวงพักตรา ไชยพงษ์ ศูนย์ข่าวพลังงาน
นับตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2566 ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างกระทันหัน โดยราคา LPG พุ่งขึ้นจาก 300 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ไปถึงกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นแตะ 139 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (เดือน มี.ค. 2565) และกินเวลากว่า 1 ปี กว่าราคาจะทยอยปรับลดลงได้ ซึ่งในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันและ LPG ในขณะนั้น อาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเข้ามามีบทบาทช่วยพยุงราคาจำหน่ายปลีก LPG และราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิดความผันผวน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ตามในขณะนั้นไม่มีใครทราบได้ว่าวิกฤติราคาพลังงานจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เงินกองทุนฯ ที่มีอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท จึงถูกนำมาชดเชยราคา LPG และดีเซลอย่างต่อเนื่อง จนเงินค่อยๆ ลดลงและหมดลงในที่สุด นำไปสู่การกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนและพยุงราคาดีเซลและ LPG ต่อไปอีก
ท้ายที่สุดกองทุนฯ ก็เข้าสู่ภาวะการเงินติดลบ โดยติดลบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565 ซึ่งนับว่าสูงกว่าเมื่อปี 2547-2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่เชื่อว่าติดลบหนักสุดที่ 92,070 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินรวม 71,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานในปี 2565 หนักหนากว่าสมัยรัฐบาลทักษิณ จนทำให้ “รัฐบาลยุคลุงตู่” ต้องอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ
แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้กองทุนฯ สามารถมีเงินได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และกู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่วิกฤติราคาพลังงานในครั้งนี้ส่งผลให้กองทุนฯ ติดลบไปถึง 1.3 แสนล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลยุคลุงตู่จึงต้องอนุมัติเป็นพิเศษ ให้กองทุนฯ สามารถกู้เงินได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทยอยกู้ได้ภายใน 1 ปี ( 6 ต.ค. 2565- 5 ต.ค. 2566 )
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็หมดหนทางจะตรึงราคาต่อไปได้ เนื่องจากเงินกองทุนฯ หมดลง จึงต้องทยอยปรับขึ้นราคา LPG และดีเซล เพื่อลดภาระกองทุนฯ โดยราคา LPG เริ่มทยอยปรับขึ้นจาก 333 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลรัม (เดือน เม.ย. 2565) โดยขึ้นราคาเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม มาสิ้นสุดในราคาปัจจุบันที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และหลังจากสิ้นเดือน ส.ค. 2566 นี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) หรือ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะต้องมาพิจารณาราคา LPG ขายปลีกใหม่อีกครั้ง
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลจากที่เคยจำหน่ายอยู่ 30 บาทต่อลิตร ก็มีการกำหนดกรอบราคาใหม่เป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรแทน โดยตลอดปี 2565 ราคาขยับขึ้นไปถึง 34.44 บาทต่อลิตร และเริ่มปรับลดลงครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 จนปัจจุบัน ส.ค. 2566 ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังต้องเข้ามาช่วยพยุงราคาดีเซล โดยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3-5 บาทต่อลิตร นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 จนถึงเดือน ก.ค. 2566 รวมลดภาษีดีเซลไป 7 ครั้ง เป็นเงิน 33 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้การกู้เงิน, การปรับขึ้นราคา LPG-ดีเซล และการลดภาษีดีเซล ดังกล่าว ดำเนินการควบคู่กันไปตลอดปี 2565 จนมาถึงต้นปี 2566 เมื่อสถานการณ์ราคาพลังงานโลกเริ่มปรับลดลงสู่ภาวะเกือบปกติ แต่ก็ยังผันผวนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดฐานะกองทุนฯ ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วันที่ 20 ส.ค. 2566 ระบุว่า กองทุนฯ ยังคงติดลบ 53,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 8,364 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 44,723 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 123.84 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลออก 433.97 ล้านบาทต่อวัน
โดยกองทุนฯ กู้เงินไปทั้งหมดเพียง 7 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินที่กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ช่วงต้นปี 2566 ทำให้กองทุนฯ เริ่มมีเงินไหลเข้าจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเข้ากองทุนฯ ซึ่งรวมไปถึงผู้ใช้ดีเซลด้วย ทำให้กองทุนฯ ลดภาวะเงินไหลออกได้ในบางช่วง แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกก็เริ่มกลับมาขยับสูงขึ้นอีกครั้งแล้ว
ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ยังคงต้องนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล 5.19 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันชนิดอื่นให้เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ ดังนี้ เรียกเก็บเงินผู้ใช้เบนซินส่งเข้ากองทุนฯ 9.38 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ91 เรียกเก็บ 2.80 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เรียกเก็บ 0.81 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตามสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ผู้ดูแลเงินกองทุนฯ ตั้งความหวังว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี หรือประมาณปี 2571 กว่ากองทุนฯ จะกลับคืนสู่ภาวะปกติที่มีเงินในกองทุนฯ ถึง 40,000 ล้านบาท ได้ เนื่องจากต้องหยุดการไหลออกของเงินให้ได้ก่อน รวมถึงการจ่ายหนี้สถาบันการเงินให้หมด ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจการพยุงราคาดีเซลและ LPG ในช่วงวิกฤติราคาพลังงานโลกปี 2565 ได้หมด
วิกฤติราคาพลังงานปี 2565 นับเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากที่สุด เนื่องจากทำให้กองทุนน้ำมันถึงกับถังแตก และกองทุนฯ ยังติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาท แถมยังต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินมาพยุงกองทุนฯ เอาไว้อีกด้วย แม้จะมีการปรับขึ้นทั้งราคาดีเซลและ LPG บางส่วนก็ยังไม่สามารถแก้สถานการณ์เงินกองทุนฯ ติดลบได้ แต่เมื่อราคาน้ำมันมีขึ้น ก็ย่อมมีลดลง ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ก็ถือเป็นจังหวะทองของกองทุนฯ ที่จะเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนฯ และใช้หนี้ แต่โชคร้ายก็เป็นของผู้ใช้ดีเซลบ้าง เพราะจะไม่มีการปรับลดราคาลงตามราคาตลาดโลกไปอีกนาน เนื่องจากต้องเก็บเงินคืนกองทุนฯ หลังจากที่ช่วยพยุงราคาดีเซลไว้ตลอดปี 2565 หลังจากนี้ก็ได้แต่ภาวนาให้ราคาน้ำมันโลกกลับสู่ภาวะปกติที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลไปอีกยาวนาน เพื่อให้กองทุนฯ ได้มีเวลาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง