เขียนเล่าข่าว​ EP.​ 32 ตาม ปตท. ​ไปเนเธอร์แลนด์ ดูทิศทางพลังงานสะอาด​แห่งอนาคต (2)

562
- Advertisment-

The Port of Rotterdam​ โมเดลต้นแบบ​ Green​ Port​ ของท่าเรือแหลมฉบังเฟส​ 3

ต่อเนื่องจาก​ EP​ ที่​ 31​ ที่เขียนเล่าถึงภาพรวมการเดินทางร่วมกับ ปตท.และคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย​ ไปที่เนเธอร์แลนด์​ เพื่อศึกษาดูงานทิศทางพลังงานสะอาดในอนาคต

ประเด็นที่น่าสนใจ​ในรายละเอียดสำหรับการดูงานที่​ท่าเรือรอตเทอร์ดาม​ หรือ​ The Port of Rotterdam​ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป คือ​ การตั้งเป้าหมายเป็น​ ท่าเรือสีเขียว​ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม​ หรือ​ Green​ Port​ ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบให้กับ​ ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส​ 3​ ที่กลุ่ม ปตท.เข้าไปร่วมลงทุน​ ที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

- Advertisment -
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์​ ซีอีโอ​ ปตท.
นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย

ผมและ​คณะสื่อมวลชนได้รับฟังการบรรยายข้อมูลเบื้องต้นจากคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่​ และคุณ​ นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย​ตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงอัมสเตอร์ดัม​ ก่อนที่อีกวันถัดมาจะเดินทางไปดูสถานที่จริงที่เมือง​รอตเทอร์ดาม​ อันเป็นสถานที่ตั้งของท่าเรือ

การดูงานที่ท่าเรือ​ เป็นการนั่งบนรถบัสชมทัศนียภาพ​(sightseeing)​ อาณาเขตของท่าเรือ​ ที่ทำให้เห็นว่ามีขนาดกว้างใหญ่​มาก​ มองเห็นโรงกลั่นน้ำมัน​ คลังน้ำมัน​ โรงงานปิโตรเคมี​ ของหลายบริษัท พื้นที่ตั้งวางตู้คอนเทนเนอร์สินค้า​เรียงรายอยู่จำนวนมาก​ เห็นแนวเสากังหันลมผลิตไฟฟ้า​ และ​ กองถ่านหิน​สีดำโรงไฟฟ้า​ถ่านหิน ที่มีปล่องสูงปล่อยไอน้ำพวยพุ่ง​อยู่ตลอดเวลา

โรงไฟฟ้า​ถ่านหินและกองถ่านหิน​

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าท่าเรือที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน​ ซึ่งปล่อยคาร์บอน​ จะทำให้เป็นท่าเรือสีเขียวได้อย่างไร​? อ่านจนจบแล้วจะได้คำตอบครับ

เทศบาลเมืองรอตเทอร์ดามและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในท่าเรือ​แห่งนี้ ได้พัฒนาท่าเรือให้รองรับทั้งสินค้าเหลว LNG สินค้าทั่วไป สินค้าเทกองและตู้คอนเทนเนอร์ และมีพื้นที่ที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน จึงทำให้ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นด่านการขนส่งสินค้าของทวีปยุโรปที่สำคัญ มีการนำเข้าและส่งออกพลังงานคิดเป็น 13% ของความต้องการพลังงานในทวีปยุโรป  

ถึงแม้ว่าปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในท่าเรือ​จะยังมีส่วนที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงถ่านหิน​ แต่ในอนาคต​ จะมีการลดสัดส่วนไฟฟ้าจากถ่านหินลง​ โดยจะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าทั้งจากพลังงานลม​ และจากโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น​ และที่สำคัญคือพลังงานไฮโดรเจน​ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายภาคธุรกิจ โดยนอกจากจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้แล้ว​ ยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ​อาทิ​ น้ำมันอากาศยานอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel: SAF) และใช้เป็นตัวพาพลังงาน (Energy Carrier) ได้ด้วย

โดยท่าเรือรอตเทอร์ดามตั้งเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนถึง 49% ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050

ในการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานเพื่อให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน Hydrogen ของยุโรป​ ท่าเรือรอตเทอร์ดาม​ มีกลยุทธ์สำคัญ​ 4
เรื่องได้แก่

  1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งก๊าซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการจัดส่งพลังงาน  
  2. การพัฒนาการผลิต Green Hydrogen และไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม
  3. การพัฒนาให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานสะอาด
  4. การพัฒนาระบบการขนส่งให้ใช้พลังงานสะอาด ทั้งทางรถ รถไฟ และเรือ

กังหันลมที่มีขนาดใบพัดใหญ่ที่สุดในโลก
โซลาร์​เซลล์​ลอยน้ำ​ที่​จะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

โดยโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น โครงการท่อก๊าซ พลังงานลมจากกลางทะเล ท่าเรือ Energy Carrier หลุมกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล โรงงานผลิตไฮโดรเจน รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน นั้น กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการลงทุน

โครงการ​ที่อยู่​ระหว่าง​การ​ก่อสร้าง​
นพดล ปิ่นสุภา​ ระหว่างให้สัมภาษ​ณ์​ สื่อมวลชนที่ท่าเรือ​รอตเทอร์ดาม​

สำหรับความเชื่อมโยงของท่าเรือรอตเทอร์ดาม​ กับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของไทย​ นั้น​ คือการมีเป้าหมายเดียวกัน​สู่การเป็น ท่าเรือสีเขียว (Green Port) ที่จะมีการใช้พลังงานสะอาดและมีระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ​ เช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2065 ( ช้ากว่ารอตเทอร์ดาม​ 15​ ปี​ )​และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้การขนส่งทางทะเลมีการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ลดการปลดปล่อยคาร์บอน

โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้มีการว่าจ้างท่าเรือรอตเทอร์ดาม​ ให้เป็นที่ปรึกษา​ เพื่อจะมาช่วยออกแบบให้เป็น​ Green​ Port​ ในอนาคต 

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3​ ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทย​ ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศให้เพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก โดยในมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะสูงถึงประมาณ 114,000 ล้านบาท นั้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี (ทีอียู คือ เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จากปัจจุบัน 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี รวมถึงมีโครงสร้างพื้นที่ที่รองรับการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทาง รถ รถไฟ และเรืออย่างครบวงจร กำหนดจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ. 2568​

สำหรับกลยุทธ์​ในการสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็น Green Port มี​ 6​ เรื่องดังนี้

  1. การใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่าเรือ
  2. การใช้แบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
  3. การใช้พลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม Hydrogen Fuel cell
  4. การเปลี่ยนระบบการขนส่ง จากรถบรรทุกเป็นรถไฟและเรือ มากยิ่งขึ้น
  5. การใช้ระบบ IT Intelligence ในการจัดการพลังงานและการจราจรภายในท่าเรือ
  6. การบริหารจัดการของเสีย และรีไซเคิลน้ำภายในท่าเรือ

กลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F โดยจัดตั้งบริษัท GPC International Terminal ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% โดยเป็นโครงการที่เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership) ระหว่าง บริษัท GPC International Terminal และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 35 ปี มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าประมาณ 30,000 ล้านบาท  

โดยในส่วนของท่าเทียบเรือ F สามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี เพื่อรองรับการนำเข้าและส่งออกตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นท่าเรือที่มีความลึกมากที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังที่ความลึก 18.5 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ได้ถึง 23,000 ทีอียู โดยจะมีการพัฒนาโครงการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการท่าเรือและการจัดการพลังงาน รวมถึงใช้เทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด เพื่อมุ่งสู่ความเป็น Green Port ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ ปตท. ในการขยายธุรกิจด้าน Logistics & Infrastructure พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และลดการปลดปล่อยคาร์บอนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

ปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการถมทะเลในพื้นที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และบริษัท GPC อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้างของท่าเทียบเรือ F ซึ่งคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลได้ภายในปี พ.ศ. 2566 และบริษัท GPC จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างหน้าท่าเทียบเรือและจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2568

อดใจรออีกไม่กี่ปีข้างหน้า​ ไทยก็จะมี​ Green​ Port​ เทียบชั้นได้กับ The Port of Rotterdam​ ของประเทศเนเธอร์แลนด์

Advertisment