เห็นพรรคการเมืองหลายพรรค ชูนโยบายแบบรวมๆเรื่องว่าจะลดราคาน้ำมัน แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองไหน ที่เลือกเจาะกลุ่ม มีนโยบายหาเสียงให้โดนใจกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ ทั้งๆที่ประชากรกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนผู้ใช้น้ำมันทั้งหมด ถึง 22 ล้านคัน ถ้าเทียบ 1 คันต่อ 1 คนคนละ 1 คะแนนเสียง กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่มีคะแนน 22 ล้านคะแนน
ข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อนำไปสร้างนโยบายหาเสียง คือ กลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ที่มีจำนวนประชากรมาก 22 ล้านคันก็จริง แต่ปริมาณการใช้น้ำมันรวมกันยังน้อยกว่า กลุ่มรถบรรทุกที่มีจำนวน 7 ล้านคันค่อนข้างมาก จึงไม่เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมัน หรือภาระต่อภาษีสรรพสามิต มากเหมือนการตรึงราคาดีเซลเพื่อช่วยกลุ่มรถบรรทุกขนส่ง ในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้กองทุนน้ำมันติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 1.3 แสนล้านบาทเมื่อเดือน พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ก่อนที่ตัวเลขติดลบจะลดลงเหลือ ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 19 มี.ค.2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง
ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน เคยดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ” หรือเรียกสั้นๆว่า โครงการวินเซฟ มาแล้วโดยให้กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบดำเนินการ มีระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.2565 โดยให้ส่วนลดราคาน้ำมัน ไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือนกับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จดทะเบียนรับจ้างกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน106,655 ราย แต่เมื่อทำจบแล้วก็จบเลย
ซึ่งถ้ามีพรรคการเมืองไหน ชิงหยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่น หรือชูนโยบายใหม่ที่ดีกว่า ขยายให้ครอบคลุมผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ทั้ง 22 ล้านคัน ก็เชื่อว่าในทางการเมือง จะได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นแน่ เพียงแต่ว่าอาจจะต้อง ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการดำเนินการ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ ให้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
ถามว่าทำไม กลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์จึงควรได้รับการช่วยเหลือ ก็ต้องตอบว่า เพราะที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ค่อนข้างเสียเปรียบกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล เพราะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต และถูกบวกค่าการตลาด มากกว่าผู้ใช้รถบรรทุกส่วนบุคคล ที่รัฐมีนโยบายอุดหนุน โดยการใช้ทั้งเงินกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต หรือการให้บวกค่าการตลาดที่ต่ำกว่า เพื่อให้ราคาขายปลีกต่ำกว่าต้นทุนจริงที่ควรจะเป็น
ดู ราคาขายปลีก ณ วันที่ 23 มี.ค.2566 แก๊สโซฮอล์91 ที่รถมอเตอร์ไซค์ชอบเติมกัน ราคา 34.58 บาทต่อลิตร ในขณะที่ดีเซล อยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร หรือแพงกว่า 64 สตางค์ต่อลิตร ทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่น แก๊สโซฮอล์91 อยู่ที่ลิตรละ 20.98 บาท และดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 22.50 บาท หรือถูกกว่าลิตรละ 1.52 บาท
ในส่วนภาษีสรรพสามิต แก๊สโซฮอล์91 ถูกเก็บภาษีลิตรละ 5.85 บาท แต่ ดีเซล เก็บอยู่ลิตรละ 1.34 บาทต่อลิตร
แม้ว่าการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ 91 จะถูกเก็บน้อยกว่าคือ ลิตรละ 2 บาท และดีเซลถูกเก็บ 6.35 บาทต่อลิตร แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ ที่ราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น การจัดเก็บติดลบมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันเป็นช่วงผันผวนขาลง จึงต้องเก็บเงินเพื่อชำระคืนหนี้ที่กองทุนน้ำมันได้เข้าไปช่วยชดเชย และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันมีฐานะที่ติดลบเกินแสนล้าน
ที่ต้องชี้โพรงให้พรรคการเมืองเห็น เพราะผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ที่เติมแก๊สโซฮอล์ ยังไม่รู้ว่าตัวเองถูกเอาเปรียบในโครงสร้างราคา ทั้งช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
ดูตัวเลขการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นว่า รถที่ใช้ดีเซลเพิ่มขึ้น 2.85 % มากกว่ารถใช้เบนซินที่เพิ่มขึ้น 1.85 %
ส่วนปริมาณการใช้น้ำมัน ข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน แสดงให้เห็นว่า ดีเซล เฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 73.05 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 15.7 % ส่วนกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 30.16 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 3.9 % สะท้อนถึงโครงสร้างการใช้น้ำมันที่ถูกบิดเบือน