เขียนเล่าข่าว​ EP.​ 29​ ​ชำแหละ​นโยบายประชานิยมพลังงาน​ พรรคการเมือง​

987
- Advertisment-

ในยามที่ ประชาชนผู้ใช้พลังงานต่างได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงทั้งน้ำมัน​และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นทุกงวด​ ​4​ เดือน​ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้​ แต่ละพรรคการเมืองจึงต่างหยิบเอานโยบายด้านพลังงานมาชูเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียง​ เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน​ ในวันเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงในเดือน​ พฤษภาคมนี้

​ถ้าผู้อ่านขับรถไปตามท้องถนนในกรุงเทพและปริมณฑล​ ก็จะเห็นป้ายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง​ ที่ชูนโยบายปรับลดราคาพลังงานที่คิดว่าน่าจะโดนใจประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง​ ส่วนจะทำได้แบบไหน​ อย่างไรนั้น​ ค่อยมาว่ากัน

พรรคเพื่อไทย​ ซึ่งหวังชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์​สไลด์​เที่ยวนี้​ เจ้าของสโลแกน​ ” คิดใหญ่​ ทำเป็น​” เขียนข้อความในแผ่นป้ายหาเสียง​ พร้อมรูปของ​ แพทองธาร​ ชินวัตร​ ว่า​ ” เพื่อไทยเป็นรัฐบาล​ ค่าไฟ​ ค่าน้ำมัน​ ค่าแก๊ส​ ลดราคาทันที

- Advertisment -

ส่วนพรรคก้าวไกล​ เจ้าของสโลแกน​ ” กาก้าวไกล​ ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม​ ” เขียนข้อความว่า ” หยุดเอื้อทุนใหญ่​ ลดค่าไฟทันที​ 70​ สตางค์ต่อหน่วย​ “

พรรคภูมิใจไทย​ สโลแกน​” พูดแล้วทำ” ลงรูป​ อนุทิน​ ชาญวี​รกูล​ หัวหน้าพรรค​ ชูนโยบาย​ ฟรีโซล่า​เซลล์​ ลดค่าไฟฟ้าบ้านละ​ 450​ บาทต่อเดือน​ ได้สิทธิซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าผ่อนเดือนละ​ 100​ บาท​ 60​ งวด

พรรคเสรีรวมไทย​ ติดป้าย​ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์​ เตมียเวส​ หัวหน้าพรรค​ ชูนโยบาย​ น้ำมันไฟฟ้าราคาถูกสำหรับประชาชน

พรรค​ชาติพัฒนากล้า​ ลงรูป​ อรรถวิชช์​ สุวรรณภักดี​ ติดป้ายหาเสียงไว้ที่เสาไฟฟ้าหน้ากระทรวงพลังงาน​ เขียนข้อความ​ ” รื้อโครงสร้างพลังงาน​ น้ำมัน​ แก๊ส​ ไฟฟ้า​ ถูกลง​ “

พรรคไทยภักดี​ ของ​ นพ.วรงค์​ เดชกิจวิกรม​ หัวหน้าพรรค​ เขียนข้อความตัวโตว่า​ ค่าไฟครัวเรือน​ 2.50​ บาท​

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ​ ของพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ และ​พรรคพลังประชารัฐ​ ของพลเอกประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ ยังไม่เห็นป้ายหาเสียงที่ชูนโยบายลดราคาพลังงาน​ แต่ผู้ใช้พลังงานที่ติดตามข่าวย่อมทราบดีว่า​ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ นั้นพยายามที่จะใช้ทุกแนวทาง​ ทั้งลดภาษีสรรพสามิต​ดีเซล และกองทุนน้ำมัน​ ตรึงราคาดีเซล​ ไม่ให้เกินเพดาน​ 35​ บาทต่อลิตร​ ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม​ การขอเรี่ยไรเงินจากโรงกลั่น​น้ำมัน ทั้งขอความอนุเคราะห์จากกลุ่ม ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา และให้ กฟผ.ช่วยแบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน​

แต่ถึงกระนั้น​ กองทุนน้ำมันก็ยังมีฐานะติดลบสูงสุด​ที่ 1.3​ แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติ​การณ์​ และ​ ทำให้ กฟผ. ​รับภาระจนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง​ จน ครม.ต้องอนุมัติกรอบวงเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน​ 1.5​ แสนล้านบาท​ มาให้ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน​

อัพเดท​ ตัวเลข ฐานะกองทุนน้ำมัน​ จนถึงวันที่​ 12​ มี.ค.2566​ ตัวเลขลดลงเหลือติดลบ​ 99,662 ล้านบาท​ จากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลง​และกองทุนน้ำมันเริ่มเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซล​คืนกองทุน หลังจากช่วงปีที่ผ่านมาต้องควักเงินจ่ายชดเชย​ ทำให้มีเงินไหลเข้ามากกว่าที่จ่ายออกไป

ถามว่า​นโยบายประชานิยมด้านพลังงานที่แต่ละพรรคการเมือง​ใช้หาเสียงกับประชาชนว่าจะลดราคาน้ำมัน​ แก๊ส​ และไฟฟ้า​ ให้ถูกลง​​ หากได้เป็นรัฐบาล​ ว่าทำได้จริงหรือไม่​ และจะทำได้อย่างไร​ ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนด้านพลังงาน​ ก็ต้องตอบว่า ทำได้จริง​

โดยเรื่องน้ำมัน​ ก็ทำได้ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิต​ และกองทุนน้ำมัน​ เข้ามาช่วยแบบเดียวกับที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ ทำมาก่อนเป็นหลัก​
ซึ่งปัจจุบัน​ ดีเซลยังเก็บภาษีสรรพสามิต​ อยู่ลิตรละ​1.34 บาท​ และส่วนที่ส่งเข้ากองทุนน้ำมัน​ อีก​ลิตรละ 4.70 บาท ส่วน​แก๊สโซฮอล์​ 95 และ 91​ เก็บภาษีสรรพสามิตอยู่​ลิตรละ 5.85 บา​ท และส่งเข้ากองทุนน้ำมันอีกลิตรละ​ 2​ บาทต่อลิตร​ ( ข้อมูล​ ​ณ​ วันที่ 15​ มี.ค.2566​ ) อย่างไรก็ตาม​ การปรับลดภาษีสรรพสามิต​ลง​ ก็คือการทำให้รายได้ของรัฐลดลง​ ในขณะที่การลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน​ ก็จะทำให้กองทุนมีฐานะที่ติดลบยาวนานขึ้นไปอีก

ส่วนเรื่องไฟฟ้า​ รัฐบาลใหม่อาจจะโชคดีที่แนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงหลักคือ​ ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)​ในปีนี้ปรับลดลง​เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ(G1/61)ในอ่าวไทยที่มีต้นทุนถูกกว่า LNG นำเข้า เพิ่มปริมาณขึ้นจากระดับ​200-300​ ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน​ เพิ่มเป็น​ 400-600​ ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน​ในช่วงสิ้นปี​ รวมถึงการเปลี่ยนสัญญาของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ในส่วนของแปลง​ B16​และ​ B17 จากระบบสัมปทานเดิม​ เป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ตั้งแต่วันที่​ 8​ มี.ค.2566​ ที่ผ่านมา​ จะทำให้ราคาก๊าซ ที่ผลิตได้ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถูกลงกว่าเดิม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ​ คำนวณว่าตั้งแต่วันที่​ 8​ มี.ค​ ไปถึงสิ้นปี2566​ ต้นทุนราคาก๊าซจะลดลงประมาณ​ 20,000​ ล้านบาท​

ทั้งนี้หากรัฐบาลใหม่​ จะช่วยลดค่าไฟฟ้า​ นับตั้งแต่งวดเดือน​ ก.ย.-ธ.ค.2566​ จะทำได้มากหรือน้อย​ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีนโยบายยืดระยะเวลาคืนภาระต้นทุนที่ กฟผ.ช่วยแบกไว้ให้ไปก่อนนานแค่​ไหน​

​อย่างไรก็ตามหากได้รัฐบาลใหม่ที่มีวิสัยทัศน์​ ก็ต้องเร่งเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา​ ที่คาดว่าจะมีปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมาก​ ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว​ เพราะจะทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า​ นโยบายประชานิยมด้านพลังงาน​ อาจจะทำได้และเป็นประโยชน์ในระยะสั้นๆ​ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ​ หากตรึงราคาเอาไว้เป็นเวลานาน​จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ​ เพราะ​ตัวเลขการใช้ก็เพิ่มขึ้น​ ต้องใช้เงินมากขึ้นในการนำเข้า​ ย้อนไปดูกรณีการตรึงราคาดีเซล​ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ เป็นกรณีตัวอย่างได้​ ว่า​รัฐเสียทั้งรายได้จากภาษีสรรพสามิต​ กองทุนน้ำมันต้องไปกู้เงินมาชดเชย​ บวกดอกเบี้ย​ ตัวเลขการใช้ดีเซลเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่​ 73 ล้านลิตรต่อวัน​ เพิ่มขึ้น​15.7​% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่​ GDP​ โตแค่​ 2.6 % ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันโต10.4 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง​78.1 %

ที่ทำนโยบายประชานิยมพลังงาน​มาทั้งหมด​สุดท้าย​ ผู้ใช้พลังงานก็ต้องมาจ่ายคืนทั้งต้นทั้งดอกอยู่ดี​

Advertisment