สงครามรัสเซีย -ยูเครนเมื่อต้นปี2565 ทำให้ราคาน้ำมันดิบและLNG LPG พุ่งสูงขึ้นจนกระทบไปทั่วโลก
ไทยนั้นเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ หมายถึง ผลิตพลังงานได้เองในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและLNG LPG เข้ามาเติมเต็มความต้องการจึงได้รับผลกระทบไปเต็มๆเช่นเดียวกับประเทศผู้นำเข้าพลังงานทั้งหลาย
โฟกัสเฉพาะเรื่องน้ำมัน ภาพรวมของนโยบายที่รัฐบาลใช้มาตลอดปี 2565 และยังต่อเนื่องมาถึงปี 2566 คือการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรในช่วงแรก ก่อนที่จะขยับเพดานขึ้นมาเป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซลตามต้นทุนจริงบางช่วงนั้นทะลุเกิน 40 บาทต่อลิตร ( เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล หรือGas Oil ปี 2565 อยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น74.26 %เมื่อเทียบกับปี 2564 ข้อมูลจาก สกนช.)
โดยเครื่องมือที่รัฐใช้ตรึงราคาดีเซล มีอยู่ 3 ส่วนสำคัญคือ 1.ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย 2.การลดภาษีสรรพสามิตดีเซล และ 3.การขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคิดค่าการตลาดดีเซล ในระดับ 1.40 บาทต่อลิตร
ส่วนน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถมอเตอร์ไซค์ รัฐปล่อยให้ราคาปรับขึ้นลงตามต้นทุนตลาดโลก ผู้ใช้กลุ่มนี้เสียเปรียบกลุ่มผู้ใช้ดีเซลตรงที่ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตสูงกว่า จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันมากกว่า และถูกบวกค่าการตลาดจากผู้ค้าแพงกว่ามาโดยตลอด
ผลพวงจากการตรึงราคาดีเซลเอาไว้เป็นเวลานาน ทำให้กองทุนน้ำมันติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง1.3 แสนล้านบาท ต้องให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช.กู้เงินโดยที่มีการแก้ไขกฏหมายให้กระทรวงการคลังค้ำประกันวงเงิน1.5แสนล้านบาท ถึงตอนนี้กู้มาใช้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยเก็บเงินจากกลุ่มผู้ใช้ดีเซล มาคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ย ในช่วงที่ราคาดีเซลเป็นขาลง
ส่วนในเรื่องของการลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลลงชั่วคราว ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเป็นตัวเลขกลมๆประมาณ 2 แสนล้านบาท
นโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้เป็นเวลานาน ยังทำให้การใช้ดีเซลพุ่งสูงขึ้นกว่ากลุ่มเบนซินค่อนข้างมาก โดย กรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 151 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น13.5 % เมื่อเทียบกับปี 2564 การใช้กลุ่มดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 73.05 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.7 % ส่วนการใช้กลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 30.16 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.9 %
ที่น่าสนใจคือการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้ตัวเลขปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 913,297 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.8 % แต่ในแง่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 104,790 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 72.7 %
ภาครัฐให้เหตุผลถึงความพยายามอย่างเต็มที่ในการตรึงราคาดีเซล เพราะเป็นน้ำมันที่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าปล่อยให้ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนจริงจะกระทบกับต้นทุนภาคการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน แต่ในมุมมองของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เขียนลงในเฟซบุคส่วนตัวว่ารัฐบาลมองน้ำมันเป็นสินค้ากึ่งการเมือง ปล่อยให้ราคาแพงมากไม่ได้ การเข้าไปตรึงราคาโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันและรัฐไปค้ำประกันทำให้หนี้กองทุนจึงกลายเป็นหนี้สาธารณะ ที่หมายถึงหนี้ของทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้น้ำมันก็ตาม ซึ่งถ้ารัฐบาลยังใช้นโยบายนี้อยู่ ภาระหนี้ก้อนนี้ก็จะมีต่อไปและอาจเพิ่มขึ้นด้วย
กระทรวงการคลังประเมินตัวเลขGDP ของประเทศ ปี 2565 ว่าจะโต 3.0 % ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวเลขการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเติบโตของGDP ยิ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของประเทศนั้น แต่กรณีของประเทศไทยที่การใช้ดีเซลโตมากถึง 15.7% แต่ช่วยขยับ GDP ให้โตได้แค่ 3.0% กลายเป็นภาพสะท้อนถึงความสิ้นเปลืองหรือไม่
ก็น่าคิดว่า ของราคาแพง นำเข้ามาปริมาณมาก ถูกบิดเบือนราคาให้ต่ำ แต่ทำแล้วไม่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น เป็นการดำเนินนโยบายที่ห่วงปัจจัยทางการเมืองมากเกินไป ได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศหรือไม่
อีกผลพวงที่จะตามมา จากเพดานราคาดีเซล 35บาทต่อลิตร เป็นเรื่องของความรู้สึกของคนที่เคยใช้ของถูกกว่าแต่ต้องมาใช้แพงกว่า คือในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง คนใช้แก๊สโซฮอล์ จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกกว่าดีเซล ที่ต้องทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันใช้คืนหนี้ที่เอามาชดเชยราคาให้กว่าแสนล้านบาท รัฐจะบริหารจัดการอย่างไรดี ? หรือจะปล่อยให้กลุ่มผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ เสียเปรียบทั้งขาขึ้นและขาลง ต้องติดตามดูกัน