เขียนเล่าข่าว EP 23 -​ภาระตรึงราคาพลังงาน 280,000 ล้าน ผลงานที่ต้องจ่ายคืน

409
- Advertisment-
รองนายกรัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นำการแถลงข่าว​

มีโอกาสได้ไปร่วมนั่งฟังการแถลงสรุปผลงานปี 2565 ของกระทรวงพลังงาน ที่นำโดยรองนายกรัฐมนตรี​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบดีแต่ละกรม รวมถึงผู้ว่าการ กฟผ. ซีอีโอ ปตท. และเลขาธิการสำนักงาน กกพ.
ก็มีความเข้าใจมากขึ้นถึงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา​ราคาพลังงานที่มีความผันผวนระดับสูงมาตลอดทั้งปี จากปัจจัยที่มาจากภายนอกประเทศคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ประเทศไทยถึงแม้ว่าจะผลิตก๊าซธรรมชาติ​และน้ำมันดิบได้ในประเทศ แต่ด้วยความต้องการใช้พลังงานที่มีมากกว่าของที่ผลิตได้ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิ ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกขยับขึ้นสูง สิ่งที่ต้องนำเข้ามาใช้มีราคาแพง ราคาภายในประเทศก็ต้องขยับขึ้นตามไปด้วย

หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงพลังงาน ที่ทำได้ดีที่สุดคือ การนั่งประชุมหน่วยงานเพื่อติดตามสถานการณ์กันแทบทุกสัปดาห์ เพื่อหาแนวทางมาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม นโยบายการตรึงราคาพลังงานภายในประเทศเอาไว้ทั้ง น้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาตลาดโลกขยับขึ้นสูง ในข้อเท็จจริงก็คือ การเอาภาระต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ไปฝากไว้กับใครสักคนให้ช่วยแบกเอาไว้ให้ก่อน หรือให้ช่วยรับไปเลยนั่นเอง

ตัวเลขที่กระทรวงพลังงานแถลงเป็นผลงานว่ามีส่วนได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนรวมกว่า 280,000 ล้านบาท ตลอดทั้งปี จึงหมายถึงการมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกที่เข้ามาช่วยตรึงราคาดีเซล จนเกิดฐานะติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์​กว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ตัวเลขกลมๆคือประมาณ 130,000 ล้านบาท

ไม่นับรวมเงินที่รัฐเรี่ยไรจากกลุ่มโรงกลั่นของ ปตท.ที่เหมือนได้มาเปล่า อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท

บุญญนิตย์​ วงศ์​รัก​มิตร​ ผู้ว่าการ​ กฟผ. รัฐวิสาหกิจที่ช่วยแบกภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนไว้ก่อน

ส่วนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นมาเพราะจำเป็นต้องใช้ LNG นำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งราคากระโดดจากไม่ถึง 10 เหรียญ​สหรัฐต่อล้านบีทียูในปี 2564 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 30 เหรียญ​สหรัฐต่อ​ล้าน​บีทียู​นั้น ผู้ที่มาช่วยแบกภาระไว้ให้ก่อนก็คือ กฟผ. คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 -​ธ.ค. 2565 ก็อยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท

ถามว่าภาระด้านพลังงานที่แบกไว้ ใครต้องจ่าย คำตอบก็คือ ผู้ใช้พลังงานนั่นเองแหละ ไม่ใช่ใครอื่น

โดยในส่วนของ กองทุนน้ำมันที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาเสริมสภาพคล่อง ตอนนี้ ช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง แต่ราคาขายปลีกดีเซล ไม่ได้ปรับลดตาม ยังอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร ก็เพื่อให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อเก็บสะสมไว้ทยอยจ่ายคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ย เพราะก่อนหน้านี้ ที่ราคาน้ำมันขยับขึ้นสูง แต่ผู้ใช้ดีเซลยังได้ใช้น้ำมันราคาเดิมก็เพราะรัฐต้องควักเงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยตรึงราคาไว้ให้

ส่วนภาระการตรึงค่าไฟฟ้า ในส่วนค่าเอฟที ที่ กฟผ.ช่วยแบกเอาไว้ให้ก่อน ประมาณ 150,000 ล้านบาท จน กฟผ.มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง ต้องกู้เงินมาเสริม ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องทยอยจ่ายคืนในการเก็บค่าไฟฟ้าเอฟที ตั้งแต่งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ครบ ไม่เช่นนั้น กฟผ.ก็จะมีปัญหาการชำระค่าเชื้อเพลิง ปัญหาการนำเงินรายได้ส่งรัฐ ปัญหาการจ่ายคืนหนี้ และปัญหาการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ประเทศ

ช่วงปี 2565 ที่ประเทศเจอปัญหาพลังงานราคาแพงเหมือนเช่นประเทศอื่นๆทั่วโลกที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ รัฐมนตรีพลังงานออกมาส่งสัญญาณ​ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในภาคไฟฟ้า แต่อาจจะเป็นเพราะเสียงสัญญาณเบาไปหรือเปล่าไม่รู้ มาตรการประหยัดจึงไม่ค่อยได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น

กุลิศ สมบัติ​ศิริ​ ปลัด​กระทรวง​พลังงาน​

ปลัดกระทรวง​พลังงานออกมาให้ข้อมูลในการร่วมแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (26 ธ.ค. 2565 )​ ถึงมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์​วิกฤต​พลังงาน ช่วง 4 เดือน ( ม.ค.-เม.ย.2566 )​ที่ใช้ทั้งการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมันดีเซล ถ่านหินลิกไนต์จากแม่เมาะ การลดดีมานด์ใช้ก๊าซโดยขอความร่วมมือภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และการเพิ่มซัพพลายก๊าซ จากแหล่งในอ่าวไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าSpot LNG ให้ได้มากที่สุด แต่ก็ลดได้เพียง 2 คาร์โก้ หรือรวม ประมาณ 1.3 แสนตันเท่านั้น

อย่างที่เกริ่นบอกไว้ว่าไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ เมื่อราคาพลังงานนำเข้ามาแพง แต่ยังไม่ช่วยกันประหยัดการใช้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา อย่างไรเสียก็ต้องมีคนจ่าย และล่าสุดหวยคนช่วยแบกภาระค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ก็มาออกที่ภาคอุตสาหกรรม

Advertisment