เขียนเล่าข่าว EP.21 ความต้องการของภาคธุรกิจ ใน APEC 2022

193
- Advertisment-

ย้อนอดีตไปดู ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค มาแล้ว 2 ครั้งโดย​ครั้งแรกคือปี 1992 ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 4 ถัดมาอีก 11 ปี คือปี 2003 ไทยก็ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคครั้งที่ 15 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับมาอีก 19 ปี เป็นครั้งที่3 ของไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2022 ถือเป็นการประชุมเอเปคครั้งที่ 29

วันเวลาแต่ละปีที่ผ่านไปทั้งเศรษฐกิจโลก กลุ่มสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ​ และรวมทั้งไทย ต่างเผชิญกับความท้าทายที่เปลี่ยนรูปต่างเรื่องมาโดยตลอดโดยเฉพาะ APEC 2022​ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพคราวนี้นั้นถือว่าเป็นปีที่แต่ละประเทศต่างก็สะบักสะบอมจากวิกฤติการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนกันถ้วนหน้า

เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open Connect &​ Balance

 และเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนภายใต้การนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council  2022 หรือ ABAC ) หยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอแนะต่อเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคได้พิจารณาร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ไข โดยความต้องการที่ลิสต์รวบรวมเอาไว้มีทั้งสิ้น 69 ข้อ สาระโดยรวมหลักๆ คือต้องการให้แต่ละประเทศ สร้างแรงกระตุ้นและส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งก็คงจะเป็นการบ้านข้อใหญ่สำหรับผู้นำและทีมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่จะต้องนำไปแปลงเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น ก็ต้องยอมรับต่อสภาพเศรษฐกิจ​ถดถอยที่ว่ากันว่าจะหนักหน่วงมากขึ้นไปเรื่อยๆ

- Advertisment -

มี 3 คำที่ ABAC ใช้สื่อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเอเปคครั้งนี้คือ Embrace -​การเปิดรับโอกาส , Engage -​การสอดประสานความร่วมมือ และ Enable -​การร่วมผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ถามว่า ABAC​ นั้นเป็นใครจึงต้องมานำเสนอเรื่องยากๆให้ผู้นำเอเปค ต้องคิดและทำตาม ก็อธิบายสั้นๆให้ได้ความว่า ABAC เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชน ที่จะส่งข้อเสนอแนะต่อผู้นำเอเปคถึงข้อกังวลต่างๆ ของภาคธุรกิจ โดยมีการจัดประชุมกัน 4 ครั้งต่อปี

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 บอกว่า “คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ มีฉากหลังของความขัดแย้งและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง

โดยภาคธุรกิจเอกชนพบความท้าทายหลายเรื่อง ทั้ง ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งผลกระทบอย่างต่อเนื่องของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ส่วน ศรีดารัน ไนร์ รองประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  ซึ่งเป็น ‘พันธมิตรด้านองค์ความรู้’ ในการประชุม APEC CEO Summit ครั้งนี้ และให้
การสนับสนุนด้านรายงาน (Thought Leadership) ภายใต้ชื่อ ‘การรับมือต่อโลกแห่งความเป็นจริงใหม่’ (Asia Pacific’s Time: Responding to the new reality) บอกว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ เปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นโอกาส ต้องกล้าที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยสร้างความไว้วางใจ และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

โดยต้องการปัจจัยห้าประการที่สอดคล้องและส่งเสริมกัน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังแรงงาน และภูมิทัศน์ของ ESG ( ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance)​

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงของความต้องการจากภาคธุรกิจที่ต้องการสื่อสารระหว่างภาคธุรกิจในกลุ่มเอเปคด้วยกันและเสนอแนะขึ้นไปถึงบรรดาผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจ​ของแต่ละประเทศ โดยหากต่างเชื่อมั่นและเดินไปในธีมคำขวัญของการประชุมครั้งนี้ที่บอกว่า  เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open Connect &​ Balance จนนำประเทศสมาชิกพ้นสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจได้ ก็จะถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดกับการที่ประเทศไทยปักหมุดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแบบWin-Win ทั้งรัฐบาล เอกชนและประชาชน

Advertisment