เขียนเล่าข่าว EP 18 . เดินชมบูธ ฟังสัมมนาเติมความรู้พลังงาน ผ่าน SETA 2022

696
N1022
- Advertisment-

งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565 หรือ SETA 2022 อ่านออกเสียงว่า เซต้า ปีนี้ จัดขึ้นพร้อมๆกับงาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) และงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) หรือ เอ็นลิท เอเซีย ที่ Hall 100-104 ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ใครที่ได้อ่านบทความนี้จบแล้วสนใจอยากจะไปชมงาน ก็ยังเหลือวันที่ 22 ก.ย.อีกวัน สามารถ walk in ลงทะเบียนที่หน้างานแล้วก็เข้าชมงานได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ระหว่าง​ให้​สัมภาษณ์​สื่อ​

ก่อนที่จะเข้างานในวันเปิดงานวันแรก (20 ก.ย.) ผมมีโอกาสได้ฟังคุณประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งวันที่ 1 ต.ค.นี้จะย้ายไปเป็น รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะหนึ่งหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงานดังกล่าว ตอบคำถามสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการจัดงานแบบนี้ที่ประเทศไทย คำตอบก็คือธุรกิจภาคเอกชนที่อยู่ในแวดวงพลังงานรวมทั้งสถาบันการศึกษาที่สอนนักศึกษาในวิชาที่เกี่ยวข้อง สามารถที่จะเข้ามาอัพเดทเทคโนโลยี่ นวัตกรรมด้านพลังงาน จากเจ้าของเทคโนโลยีหรือตัวแทน และเลือกไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือการศึกษาค้นคว้าของตัวเองได้จากหลากหลายบริษัทที่มาออกบูธแสดงพร้อมกันในงานเดียว โดยไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

งานปีนี้ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะ ผู้จัดงานฝั่งไทยคือ บริษัทแกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไปจับมือกับทางสิงคโปร์ คือ บริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด เลยสามารถรวมเอา 3 งานใหญ่ที่เคยแยกกันจัด มาจัดพร้อมกันในไทยได้

- Advertisment -

บูธแรก ที่เดินเข้าไปชมคือของ กลุ่ม ปตท. ที่อัพเดทข้อมูลเรื่องการทำธุรกิจทั้งหมดของ ปตท.ว่าแต่ละบริษัทในกลุ่มใครทำอะไรบ้าง และอะไรที่เป็นธุรกิจใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ ทั้ง Future Energy และ Beyond Energy อ่านครบทุกบอร์ด สามารถจะเข้าใจภาพการทำธุรกิจทั้งหมดของ ปตท. ได้เลย

Japan Pavilion​ ที่มีผู้สนใจขอข้อมูลอย่าง​คึกคัก​
Korea Pavilion​

U.S. Pavilion​

ส่วนที่จัดเป็นศาลาหรือ Pavilion เลย จะมีทั้งของ สหรัฐอเมริกา​ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมงานในการไปติดต่อสอบถามข้อมูลคึกคักพอสมควร

ส่วนบูธที่ทางผู้จัดงานคือคุณ นภปฎล สุขเกษม นำชมเอง คือของ GFE ที่ทำโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ด้วย Pyrolysis Technology เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นโครงการขนาด 9.6 เมกะวัตต์ ที่อุดรธานี ซึ่งใกล้จะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเร็วๆนี้

นภปฎล สุขเกษม จาก แกท อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้จัดงานนำชมเทคโนโลยีของ GFE และเครื่องแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นสารปรุงดินภายใน 24 ชั่วโมง

ในบูธเดียวกันนี้ ยังนำเครื่องแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นสารปรุงดินภายใน 24 ชั่วโมง ชื่อ Klaren ใส่เศษอาหารเหลือทิ้งได้ ครั้งละไม่เกิน 3 กิโลกรัม เครื่องแบบนี้แม่บ้านคงชอบที่ไม่ต้องทิ้งเศษอาหารให้เป็นขยะ แต่นำมาใช้ประโยชน์ปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้านให้งอกงามได้ โดยที่มีราคาพิเศษให้ส่วนลดเยอะถ้าซื้อในงาน

เดินไปในฝั่งงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานและงานเอ็นลิท เอเซีย ที่จัดบูธเสมือนเดินอยู่ในงานเดียวกัน ก็จะเป็นเทคโนโลยีจากหลายบริษัทที่เกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ ระบบอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ระบบสมาร์ทมิเตอร์ มีบิ๊กเนมใหญ่ๆที่มาออกบูธด้วย เช่น มิตซูบิชิ ​เพาเวอร์​ จีอี ฮุนได โททาล เอ็นเนอยี่ คาลเท็กซ์ หัวเหว่ย

นอกเหนือจากการออกบูธแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานแล้ว ที่น่าสนใจมากคือเวทีสัมมนาที่มีแต่หัวข้อที่น่าสนใจตอบโจทย์ผู้ชมงานใน 3 เวที จาก3 งาน ให้เลือกเข้าฟัง ซึ่งจะมีรายละเอียดให้อ่านก่อนเข้าชมงานอยู่แล้วว่าแต่ละวันจะมีหัวข้ออะไรบ้างและวิทยากรบนเวทีที่จะมาพูดเป็นใครจากหน่วยงานไหน

งานเสวนา SMR Technology for Carbon Neutrality , Security and Sustainable Energy of Thailand

ผมมีโอกาสไปนั่งฟังเวทีสัมมนาเกี่ยวกับ พลังงานนิวเคลียร์ จากเทคโนโลยี SMR (Small Modular Reactor) ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม และทดลองใช้ในบางประเทศแล้ว โดยบริษัท NUSCALE ของสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นใหม่นี้ ก็ทำให้รู้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งในภาคการศึกษา อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาครัฐที่กำกับดูแล อย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และผู้ที่จะเลือกใช้ในอนาคตอย่าง กฟผ.เพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้กับประเทศนั้น มีการติดตามดูเทคโนโลยีและเตรียมกฏระเบียบเอาไว้รองรับ ได้ดีพอสมควร แบบถ้ารัฐบาลกดปุ่มเรื่องนี้เมื่อไหร่ ประชาชนให้การยอมรับ ก็พร้อมผลักดันสู่ภาคปฏิบัติได้เลย

ยังมีอีกหลายหัวข้อสัมมนาที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ “ผ่าแผนนโยบายพลังงานชาติฉบับใหม่ กับเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ทั้งสี่ด้าน :ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน” ในวันที่ 21 ก.ย. ที่บอกว่าหัวข้อเรื่องแผนนโยบายพลังงานชาติ สำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนทางด้านพลังงานของประเทศในอนาคต เพื่อให้ภาคธุรกิจพลังงานได้เตรียมความพร้อม

ผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน จากทั้งในและต่างประเทศกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในสถานการณ์ที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่แล้ว ก็ต้องรอฟังตัวเลขจากทางผู้จัดว่าจะได้ตัวเลขผู้เข้าชมตามเป้าหรือไม่ แต่ที่ไปเดินดูมาด้วยตัวเอง บริษัทต่างๆที่มาออกบูธนั้นเต็มพื้นที่ ทั้ง Hall 100-104 น่าดีใจแทนผู้จัด

บูธ​ของ การไฟฟ้า​ส่วนภูมิภาค หรือ PEA
Advertisment