หลายคนอาจจะรู้ ได้ยิน หรือได้เคยอ่านผ่านๆ แต่ยังไม่ได้ลองทำความเข้าใจให้มากขึ้น กับประโยคที่ว่า .“ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ”
คอลัมน์เขียนเล่าข่าว EP. 16 นี้ เลยถือโอกาสมาเขียนเล่าให้อ่านกัน เพราะสัปดาห์ที่แล้ว ผมเป็นตัวแทนของศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) เดินทางร่วมทริปกับทีมผู้บริหารของ ปตท. และคณะสื่อมวลชนจากหลายสำนัก ไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อดูงานด้านนวัตกรรมและธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ( Life & Science )
การไปครั้งนี้ได้มีโอกาสรับฟังการบรรยายขยายความประโยค Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ” ซึ่งเป็น วิสัยทัศน์ใหม่ของ กลุ่ม ปตท. ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อปีที่แล้ว จาก ซีอีโอ ปตท. คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ทำให้เข้าใจภาพการทำธุรกิจของกลุ่มปตท.ในอนาคต ภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้านี้มากขึ้น
วิสัยทัศน์ก่อนหน้านี้ ของ ปตท. ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นเรื่องของการสร้างองค์กรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่เวทีโลก หรือ Thai Premier Multinational Energy Company
การปรับวิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่ม ปตท. ก็เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ที่กระแสทิศทางอุตสาหกรรมของโลกและของประเทศนั้นมุ่งสู่พลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้า การให้ความสำคัญต่อเรื่อง Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. นั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่เป็นเรื่องของ Future Energy พลังงานในอนาคตจะมุ่งสร้างการเติบโตด้วยธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ถึง 12,000 เมกะวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage
ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และพลังงานไฮโดรเจน
อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ ซีอีโอ ปตท.บอกในห้องบรรยายว่า ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุด เมื่อเทียบกับน้ำมัน ถ่านหิน ที่มีความจำเป็นสำหรับช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั้งโลกในอีก 20 ปีข้างหน้ายังมีอัตราการเติบโตที่ดี ในขณะที่ถ่านหินนั้นมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2558 ส่วนน้ำมันนั้นการใช้จะเพิ่มสูงสุดหรือ Peak ในปี 2575 จากนั้นความต้องการใช้ก็จะลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับถ่านหิน
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่นอกเหนือไปจากพลังงาน หรือ ” Beyond ” นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต หรือ Life Science ที่ ปตท.ลงทุนผ่านบริษัท อินโนบิก เอเชีย เน้นเรื่องยา การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร Plant-based ที่ใช้นวัตกรรมผลิตโปรตีนจากพืช มาทดแทนเนื้อสัตว์
เรื่องธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง การลงทุนด้านโครงสร้าง
พื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence)หรือที่เรียกกันว่า เอไอ
ซีอีโอ ปตท. บอกถึงแผนลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่ม ปตท. ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2565-2569 ว่าจะมีวงเงิน สูงถึง 9.8 แสนล้านบาท และมีเงินที่เตรียมสำรองเผื่อไว้สำหรับโครงการที่คิดว่ามีความสนใจ หรืออยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ที่เรียกว่า Provision ของทั้งกลุ่มอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท
สำหรับประโยคเริ่มต้นของวิสัยทัศน์ แต่เขียนเล่าเป็นส่วนที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่อง Powering Life นั้น เน้นไปในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนและสังคมในทุกมิติ ที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 64 จนถึงปัจจุบัน ใช้เงินไปรวมๆประมาณ 17,800 ล้านบาท
โดย ธีม ลมหายใจเดียวกัน เป็นเรื่องช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ธีม ลมหายใจเพื่อน้อง เป็นเรื่องของการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ธีมลมหายใจเพื่อเมือง เป็นเรื่องของการปลูกต้นไม้ เติมป่า เพิ่มออกซิเจนให้กับกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการช่วยตรึงราคาลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี น้ำมัน
ถอดรหัสแยกส่วนวิสัยทัศน์ใหม่ กลุ่ม ปตท. ให้เห็นภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้ง Future Energy / Beyond และ Powering Life แล้ว
ในทริปเดียวกันนี้ ยังมีการบรรยายจาก ดร.บุรณิณ ให้เห็นภาพการลงทุนที่เกี่ยวกับ Life Science ของบริษัทอินโนบิกและการ ดูโรงงานPlant-based ซึ่ง ในเขียนเล่าข่าว EP ถัดไป จะนำมาเขียนเล่าให้อ่านอีก โปรดติดตามครับ