พูดถึง ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center นั้นคนที่อยู่นอกวงการอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าทำไมมันถึงใช้ไฟฟ้าเปลืองมาก จนกลายเป็นต้นทุนถึงประมาณ 50 % ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของคนที่ลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้
แต่เมื่อให้คนในวงการไอที ช่วยอธิบาย ก็จะได้คำตอบว่าก็เพราะ Data Center มันคืออาคารสถานที่หรือห้องที่ออกแบบเพื่อจัดวาง Super Computer หรือระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและเครือข่าย ที่มีเครื่องเซิฟเวอร์ขนาดต่างๆ วางเรียงกัน อยู่จำนวนมาก และระบบที่ว่านี้ต้องอยู่ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิความเย็น ต้องมีกระแสไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน ที่เอื้อให้ สามารถทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพตลอดเวลา โดยระบบไม่ล่ม เรียกว่าเฉพาะเรื่องของระบบความเย็นก็ต้องเปิดแอร์ในห้องนี้กันทั้งวันทั้งคืน
ดังนั้นใครที่จะมาลงทุนจัดตั้งระบบ Data Center ในประเทศไทย จึงต้องมั่นใจว่าสถานที่แห่งนั้นจะต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า และมีมาตรฐานคุณภาพไฟฟ้าที่พร้อมรองรับ
ยิ่งนโยบายภาครัฐ ตั้งเป้าต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางศูนย์ข้อมูลในภูมิภาค หรือ ASEAN Data Center Hub ก็ยิ่งต้องมีมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆที่จะมาจูงใจผู้ลงทุน โดยเฉพาะหากมีเรื่องที่สามารถช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้ ก็เชื่อว่าจะดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที ที่อยากจะมาลงทุนนั้น ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีความร่วมมือที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ในการสร้าง Data Center โดยใช้พลังงานความเย็นของก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ( Liquefied Natural Gas ) ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
บทสรุปของความร่วมมือดังกล่าว คือต้องการให้ บิ๊กเนมระดับโลก อาทิ Facebook Google Line Tencent Baitu KDDI Fujitsu หรือ Microsoft ได้มองเห็นว่า ความเย็นจาก LNG ที่ประเทศไทยมีอยู่อย่างมากจากการเป็นผู้นำเข้า นั้น สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ ในระบบ Data Center เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ หากพวกเขาเลือกประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและเลือกพื้นที่ที่จะจัดตั้ง Data Center ในบริเวณไม่ไกลจากสถานีรับจ่าย LNG ที่พร้อมจะวางท่อส่งความเย็นที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือไปให้ใช้
ยิ่งในสถานีรับจ่ายLNGที่มีการก่อสร้างใหม่ หากมีการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อมุ่งใช้ประโยชน์จากความเย็นของLNG สำหรับ Data Center เอาไว้โดยเฉพาะเช่นการจัดเตรียมพื้นที่ไว้เป็นโซนนิ่งสำหรับก่อสร้างอาคาร มีการวางท่อส่งความเย็นที่ไม่ไกลมาก ก็จะยิ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มากขึ้น
ขยายความให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า LNG คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพโดยใช้พลังงานมาปรับลดอุณหภูมิให้ติดลบประมาณ 160 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลวทำให้สามารถขนส่งในระยะทางไกลๆได้ จึงเหมือนว่าเราซื้อLNG และได้พลังงานความเย็นนำเข้าแถมมาด้วย ดังนั้นหากสามารถนำพลังงานความเย็นดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ได้ในอาคาร สถานที่ต่างๆก็ไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้เปลืองไฟฟ้าซ้ำซ้อนอีก
มองในภาพรวม ยิ่งใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ก็ยิ่งช่วยประเทศประหยัดเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จะผลิตส่งป้อนให้เครื่องปรับอากาศมากเท่านั้น
ที่ผ่านมา พีทีที แอลเอ็นจี มีการนำพลังงานความเย็นจาก LNG นำเข้ามาใช้ประโยชน์อยู่แล้วในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมด้วยอุปกรณ์ (Organic Rankine Cycle: ORC) จำนวน 5 เมกกะวัตต์
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันแก๊ส (Gas Turbine)
การทดแทนระบบทำความเย็นในอาคารต่างๆ ของ บริษัท และที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีคือนำมาใช้ในการปลูกพืชเมืองหนาวที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ดอกทิวลิป สตอเบอรี่
ยังเหลือการนำความเย็นจากLNG มาใช้ใน Data Center กับบริษัทไอทีระดับโลกนี่แหละ ถ้าเกิดขึ้นจริงสักรายสองราย ก็จะเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็น ASEAN Data Center Hub สมความตั้งใจ แบบ Win- Win กันทุกฝ่าย