เรื่องของค่าการกลั่น กลายมาเป็นประเด็นที่อยู่บนหน้าสื่อ และสังคมหันมาให้ความสนใจ เพราะหัวหน้าพรรคการเมืองตั้งใหม่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หยิบเอามาฟ้องประชาชนว่า โรงกลั่นน้ำมันมีค่าการกลั่นที่สูง และมีกำไรสูงเกินไป ในขณะที่ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาน้ำมันแพง พร้อมจี้ให้รัฐบาลออกมาจัดการในเรื่องนี้
เมื่อรัฐบาลรับลูกปัญหาค่าการกลั่นสูง ก็เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีผลสรุปออกมาว่า จะขอความร่วมมือโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ นำส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมาช่วยรัฐดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชน หลังจากที่รัฐใช้ทั้งมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลและใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยอุ้มราคา คิดรวมกันเป็นวงเงินเกิน 1 แสนล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวว่ารัฐจะให้โรงกลั่นแบ่งกำไรคืนให้รัฐ ปรากฏว่า หุ้นโรงกลั่นทั้ง 6 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วงยกแผง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อแนวทางที่รัฐบอกจะดำเนินการ ซึ่งก็ทำให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานแตะเบรกเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อหารือกับกลุ่มโรงกลั่นให้ตกผลึกกันเสียก่อน
โดยมีความพยายามจากฝั่งโรงกลั่นน้ำมัน ทั้งในภาพรวมผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในนามของซีอีโอ โรงกลั่นไทยออยล์ โรงกลั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมถึง ซีอีโอ ไออาร์พีซี และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่รู้จักอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันค่อนข้างดี ออกมาให้ความรู้เรื่องค่าการกลั่น ไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเด็นที่นักการเมืองจุดกระแสเรื่องค่าการกลั่นสูง 10 เท่า นั้น มีข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วนและอาจจะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องค่าการกลั่นผิดไป
ประเด็นที่กลุ่มโรงกลั่นต้องการเน้นย้ำ คือ ค่าการกลั่น ที่โรงกลั่นได้รับนั้น ไม่ใช่ กำไรสุทธิ ของผู้ประกอบกิจการโรงกลั่น แต่จะต้องนำมาหักต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆออกไปก่อน ทั้งต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ที่ซื้อมาจากต่างแหล่งกัน ต้นทุนค่าพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิต ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงกลั่นไม่สามารถที่จะกำหนดค่าการกลั่นได้เองว่าอยากจะได้สูงหรือต่ำ โดยจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสำคัญ โดยโรงกลั่นที่กำหนดค่าการกลั่นสูงเกินไป ลูกค้าก็หันไปซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นอื่นแทนได้ ในขณะที่ถ้าตั้งไว้ต่ำเกินไป ลูกค้าก็จะแห่มาซื้อน้ำมันจนมีผลิตภัณฑ์ไม่พอขาย
ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ยังมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ช่วงเวลา บางช่วงมีค่าการกลั่นสูง กำไรดี บางช่วงมีค่าการกลั่นต่ำ ขาดทุน ซึ่งการนำค่าการกลั่นช่วงระยะสั้นที่สูง มาตัดสินว่าโรงกลั่นกำลังอิ่มพุงกาง ในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน จึงไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ประกอบการโรงกลั่นนัก
ดังนั้น การที่รัฐจะขอความร่วมมือโรงกลั่นในการแบ่งส่วนกำไรคืนมาให้รัฐบ้าง นอกเหนือจากที่ผู้ประกอบการจ่ายภาษีให้รัฐอยู่แล้ว จึงควรจะมีเหตุและผล ไม่ขัดต่อกลไกตลาดการค้าน้ำมันเสรี ที่รัฐมีนโยบายเชิญชวนผู้ประกอบการมาลงทุนตั้งโรงกลั่นในประเทศตั้งแต่ต้น แทนที่จะเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาเสียทั้งหมด
ย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2521 หรือ 44 ปีมาแล้ว รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เคยเรียกเก็บ “กำไรลาภลอย (windfall profit)” จากผู้ค้าน้ำมันมาแล้วจากการประกาศเพิ่มค่าเงินบาทร้อยละ 1 ซึ่งทําให้ผู้นําเข้าน้ำมันได้กําไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยรัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่ากําไรที่ผู้ค้าน้ำมันได้รับไม่ได้เกิดจากการดําเนินงาน จึงได้มีคําสั่งนายกรัฐมนตรีที่206/2521 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2521 จัดตั้ง “กองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ)” และกําหนดให้ผู้นําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงนํากําไรที่เกิดจากการเพิ่มค่าเงินบาท ส่งเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อเก็บไว้ใช้ช่วยผู้บริโภคเมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น
แต่มาถึงยุคนี้ สมัยนี้ ที่กำไรซึ่งโรงกลั่นได้รับในบางช่วงนั้นมาจากการดำเนินงาน โดยมีปัจจัยภายนอกมาเกื้อหนุน ซึ่งไม่ได้มาจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนตามนโยบายของรัฐบาลเหมือนในอดีต การที่รัฐจะไปขอแบ่งกำไรจากผู้ประกอบการโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ เป็นหลักหลายหมื่นล้าน จึงต้องมีความรอบคอบและมีกฏหมายมารองรับ โดยที่ไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่รัฐจะตัดสินใจทำอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย