ในทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวหลักที่ต้องลดการปลดปล่อยลงให้ได้ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้นทุนราคาพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนยังแพงอยู่ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำมันและถ่านหิน จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) และด้วยคุณสมบัติสำคัญเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจึงเชื่อว่าก๊าซธรรมชาติจะยังคงมีความสำคัญไปอีกอย่างน้อย 30 ปี
สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของไทย ที่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผนพีดีพี (PDP : Power Development Plan) ทั้งในแผนที่ใช้ในปัจจุบันอย่างเป็นทางการคือ พีดีพี 2018 ฉบับปรังปรุง ครั้งที่ 1 และแผนพีดีพีที่อยู่ระหว่างการจัดทำขึ้นใหม่ ยังคงให้ความสำคัญในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2567 ชี้ให้เห็นสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ยังสูงถึง 58%
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณสำรองลดลงเรื่อยๆ สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ก็เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 40 % ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนอีก 60% เป็นก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมียนมา และพื้นที่พัฒนาร่วม JDA

LNG เป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกลดอุณหภูมิให้ติดลบ 162 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนสถานะของก๊าซกลายเป็นของเหลว ให้สะดวกต่อการขนส่งด้วยเรือในระยะทางไกลๆ โดยในส่วนของประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับทั้งคลัง LNG และสถานีรับ-จ่าย ที่เรียกรวมว่า LNG Terminal แล้ว จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ที่มาบตาพุด มีบริษัท PTTLNG เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแห่งที่สองที่หนองแฟบ มีบริษัท PELNG เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. โดยมีขีดความสามารถในการรองรับ LNG ในปัจจุบันรวมกันประมาณ 19 ล้านตันต่อปี แต่ในอนาคตข้างหน้าผู้ลงทุนมีแผนจะขยายขีดความสามารถในการรองรับเพิ่มเป็น 27 ล้านตันต่อปี ที่เป็นการยืนยันว่า LNG จะเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ในการนำเข้า LNG นั้น รัฐมีนโยบายให้ ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ส่วนสัญญาระยะสั้น หรือ Spot Market นั้น เป็นการนำเข้าร่วมกับระหว่าง ปตท. กฟผ.และ Shipper เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ
การที่ LNG มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน ขณะที่ LNG เป็นเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยราคา LNG ที่มีความผันผวนจะมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น รัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและเป็นทั้งผู้กำกับดูแล จึงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ประเทศมี LNG ใช้อย่างมั่นคงไม่ขาดแคลน และมีราคาที่เหมาะสม อาทิ การกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสัญญาระยะยาวและสัญญาระยะสั้น การสร้างกลไกให้เกิดการแข่งขันในการจัดหาให้มากขึ้น และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขาย LNG ในภูมิภาค หรือ Regional LNG Hub